เลขาฯ ป.ป.ช. เผย ปี 2567 จ่อใช้แผนงานด้าน 'การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ' ต่อ ยกระดับระบบบริหารราชการไทย-ลดการทุจริต-เกิดความโปร่งใส
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงาน เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึง แผนงานในปีงบประมาณ 2567 เกี่ยวกับ 'การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA)' ว่า ถึงแม้ว่าปีนี้จะยังไม่บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2566-2570 เกี่ยวกับประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ตั้งเป้าหมายกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องมีผลวัดค่าที่ 85 คะแนน ระดับผ่านขึ้นไปไม่น้อยกว่า 100% แต่การวัดผลและประเมินค่า ITA ก็เป็นเสมือนเปิดโอกาสให้ประชาชนและบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ได้ร่วมกันสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของความไม่เป็นธรรม และความด้อยประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐผ่านระบบการวัดค่า ITA ที่จะเป็นตัวผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนและช่วยสานพัฒนาการให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วน ต้องตื่นตัวและตอบสนองการบริการแก่ประชาชนได้ตรงจุดและโปร่งใส ปราศจากพฤติการณ์การทุจริตมากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่า ในปีงบประมาณ 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. จะสามารถสานต่อการประเมิน ITA เพื่อยกระดับการทำงานของหน่วยงานของรัฐ และจะเป็นตัวผลักดันส่งเสริมให้หน่วยงานต้นสังกัด ได้เข้าไปดูแลและแก้ไขจุดอ่อนต่าง ๆ
ทั้งนี้ปีนี้นับเป็นความสำเร็จอีกหนึ่งก้าวของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ได้พัฒนาเครื่องมือและระบบการวัดประเมินค่าทางคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ อย่าง ITA ขึ้นมาเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริต และเป็นกลไกในการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานภาครัฐ ได้ดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรม โดยมุ่งเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบราชการไทยในเชิงสร้างสรรค์มากกว่ามุ่งจับผิด เสมือนเป็นเครื่องมือตรวจสุขภาพขององค์กรประจำปี เพื่อให้รู้ช่องว่างความไม่เป็นธรรมและความไม่โปร่งใสทุกรูปแบบในระบบราชการไทย
นอกจากนี้ ITA ยังได้ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพ ด้านการให้บริการแก่ประชาชนเพื่อให้รับรู้ถึงสถานะและปัญหาการทำงานที่เกิดขึ้นทุกกรณีที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาของการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ยังคงฝังรากลึกแทรกซึมอยู่ในสังคม ตั้งแต่กลุ่มนักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจ ที่นับวันปัญหาจะปรากฏเป็นข่าวอื้อฉาวให้เห็นกันบ่อยครั้ง ตั้งแต่ระดับเล็ก อย่างการเรียกรับสินบนจากผู้มาติดต่อราชการ ไปจนถึงการคอร์รัปชันขนาดใหญ่ ที่ผู้มีอำนาจออกนโยบายที่ก่อให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย
นายนิวัติไชย เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อไปว่า โดยหลังจากที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำการประเมิน ITA หน่วยงานภาครัฐ ครั้งที่ 11 ที่ผ่านมา มีหน่วยงานของรัฐทั่วประเทศเข้าร่วมประเมินถึง 8,323 หน่วยงาน โดยเป็นการเก็บข้อมูลตัวอย่าง 1 ล้านกว่าคน แบ่งเป็นบุคลากรหน่วยงานรัฐ 4.2 แสนคน ใช้เครื่องมือแบบวัด ไอไอที (IIT) ประเมิน 5 ตัวชี้วัดได้แก่ (1) การปฏิบัติหน้าที่ (2) การใช้งบประมาณ (3) การใช้อำนาจ (4) การใช้ทรัพย์สินของราชการ และ (5) การแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งจะคิดคะแนนเป็น 30 คะแนน จาก 100 คะแนน โดยผู้ตอบแบบสอบถามจะต้องยืนยันตัวตนผ่าน OTP ระบุ Code ของหน่วยงานให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันการนำบัตรประชาชนมาแอบอ้างในการลงคะแนนดังกล่าว จากนั้นขั้นตอนถัดมาจะเป็นการเก็บตัวอย่าง ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการจากหน่วยงานของรัฐอีก 5.8 แสนคน ด้วยเครื่องมือวัด อีไอที (EIT) แบ่งเป็นอีก 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) คุณภาพการดำเนินงาน (2) ประสิทธิภาพการสื่อสาร และ (3) การปรับปรุงระบบการทำงาน ก่อนที่สุดท้ายจะเป็นการประเมินจากการเปิดเผยข้อมูลภายในแบบ โอไอที (OIT) ได้แก่ (1) การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และ (2) ข้อมูลโครงสร้างจากองค์กร
จากขั้นตอนทั้งหมด จึงจะประมวลผลของหน่วยงานที่ได้รับการประเมิน ออกมาเป็นคะแนน โดยในปีนี้มีหน่วยงานที่ได้คะแนนการประเมิน ITA สูงกว่า 95 คะแนน มีถึง 674 หน่วยงาน อาทิ กรมการปกครอง ที่ได้คะแนนสูงสุดถึง 99.03 คะแนน กลุ่มรัฐวิสาหกิจอย่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ถึง 99.35 คะแนน กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ เทศบาลตำบลตะกุด อ.เมืองสระบุรี ได้สูงถึง 99.81 คะแนน ซึ่งในแง่ภาพรวมของระดับประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 90.19 คะแนน มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 2.62 คะแนน ส่วนคะแนนสูงกว่า 85 คะแนน 2,550 หน่วยงาน และคะแนน 85 คะแนนผ่านบางเครื่องมือ 3,513 หน่วยงาน ฉะนั้นถ้าพิจารณาสัดส่วนหน่วยงานรัฐที่ได้ 85 คะแนนผ่านขึ้นไป 6,737 หน่วยงาน คิดเป็น80.94% ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 10.42%
"ITA เป็นเสมือนกระจกสะท้อนให้รู้จักตัวเอง ไม่เว้นแม้กระทั่งสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรงด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับชาติ ก็พร้อมที่จะได้รับการตรวจสอบและประเมินค่า ITA ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ในด้านความโปร่งใสทุกแง่มุม และสามารถตรวจสอบได้ ITA จึงเป็นเสมือนการกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ และสำนักงาน ป.ป.ช. จะพัฒนาระบบการประเมิน ITA อย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีประสิทธิภาพครอบคลุม และยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI ให้สูงขึ้นตามไปด้วย" นายนิวัติไชย กล่าว