ป.ป.ช.สรุปรายละเอียดผลสัมนาแลกเปลี่ยนปี 66 ชี้ทุกฝ่ายรับรู้ และพร้อมร่วมผลักดันยุทธศาสตร์ต้านทุจริต-เลขาฯ ป.ป.ช.ย้ำต้องลดขั้นตอนติดต่อราชการ เพราะทำให้เกิดช่องโหว่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 22 ก.ย.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกเอกสารสรุปผลการสัมมนาแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระดับชาติ ประจำปี 2566 โดยเอกสารข่าวแจกมีเนื้อหาสรุปรายละเอียดดังต่อไปนี้
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เปิดเผยว่าจากการจัด โครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระดับชาติ ประจำปี 2566 ซึ่ง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ประธานกรรมการ ป.ป.ช.) เป็นประธานแสดงวิสัยทัศน์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภายใต้หัวข้อ “ผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี: ความท้าทายของการทุจริตในอนาคต” โดยระหว่างการสัมมนาได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย (Work shop) สำหรับบุคลากรและเจ้าหน้าที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยแบ่งเป็นกลุ่มอภิปราย 3 กลุ่มหัวข้อ ได้แก่ (1) ปลูกฝัง-ป้องกัน-ป้องปราม การทุจริตเชิงรุก (2) การประเมิน ITA ภาพสะท้อนที่ท้าทายในการบริหารงานภาครัฐและเอกชน และ (3) การลดจำนวนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานภาครัฐ เป้าหมายที่ท้าทายพฤติกรรมการทุจริตของเจ้าหน้าที่ เพื่อวางแนวทางในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายในระยะ 5 – 10 ปี
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวถึงผลของการสัมมนาในครั้งนี้ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้ร่วมกันเดินหน้าผลักดัน “ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต” มาอย่างต่อเนื่องทุกปี ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ตามแผนแม่บทของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การสร้างให้ข้าราชการหน่วยงานของรัฐและประชาชน ได้ตระหนักรับทราบและเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง และร่วมกันเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ที่จะก่อให้เกิดการกระทำอันเป็นการทุจริตในทุกภาคส่วน จึงได้จัดทำโครงการ “โครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระดับชาติ” มาเป็นประจำทุกปี ควบคู่ไปกับการศึกษาทบทวนการดำเนินการ ตามประเด็นยุทธศาสตร์ “สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย” เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับ แนวทางการรับมือกับการทุจริตในอนาคต จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งองค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ต้องเรียนรู้ ตื่นรู้ รอบรู้ และมีศักยภาพในการคาดการณ์อนาคต โดยเฉพาะ ภาคการเมืองก็ต้องพัฒนาประเทศด้วยความโปร่งใส ปราศจากการคอร์รัปชัน พร้อมกับสนับสนุนให้เสริมสร้างทุกอำเภอ ทุกท้องที่ ทุกจังหวัดของประเทศไทย กลายเป็น “เมืองที่มีแต่ประชากรคุณภาพและสังคมชุมชนที่แข็งแรงตื่นตัวต่อการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ” (Strong Citizen and Society) รวมถึงทุกเขตในกรุงเทพมหานคร ก็ต้องพร้อมจะพัฒนาไปสู่การเป็น “เมืองหลวงที่แข็งแรง ใสสะอาด” (Strong Smart Capital Bangkok)
โดย “กลยุทธ์สำคัญ” ของการดำเนินการรับมือกับการทุจริตในอนาคต เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า จะต้อง ลดขั้นตอน ของกระบวนการให้เกิดช่องโหว่ เพราะการที่มีขั้นตอนในการติดต่อราชการที่ซับซ้อน ทำให้มีช่องทางที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบ เพื่อลดขั้นตอน หรืออำนวยความสะดวกอย่างไม่โปร่งใส ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนในการจัดซื้อจัดจ้าง ดูแลงบประมาณ รวมถึงผู้รับจ้าง ภาคเอกชน ต้องยึดหลัก ความโปร่งใส (Transparency) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ดุลยพินิจพิจารณาอนุมัติเป็นกรณีพิเศษในลักษณะแบบผูกขาดผู้รับจ้างรายใดรายหนึ่ง ขณะเดียวกันผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร และผู้บริหารทุกภาคส่วนจะต้องมีเจตจำนงที่แน่วแน่ มีความซื่อสัตย์ยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ และ สามารถตรวจสอบได้ (Accountability) ตามแผนการสร้างผู้นำแบบ “Tone at the top”
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะได้ผลักดันการสร้างโมเดลเมืองให้เกิดความโปร่งใสในทุกภาคส่วน และใช้เป็นบรรทัดฐานในการพัฒนาประเทศให้เดินหน้าต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยยกระดับกลายเป็นประเทศที่ปลอดการทุจริตอย่างแท้จริงในอนาคต