ศาลปกครอง เผยผลไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง 4 ปี ไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จ 481 คดี พร้อมรณรงค์ส่งเสริมให้ระบบไกล่เกลี่ยเป็นทางเลือกของการระงับข้อพิพาททางปกครอง ซึ่งมีความเรียบง่ายและยุติข้อพิพาทได้เร็ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 สำนักงานศาลปกครองเปิดเผยผลการดำเนินงานด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง โดยนับตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2562 เป็นต้นมา ที่ศาลปกครองได้นำระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองมาใช้ในศาลปกครองทุกศาลทั่วประเทศ ตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 และระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พ.ศ. 2562 พบว่า มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลปกครองชั้นต้น จำนวน 549 คดี ไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จ จำนวน 481 คดี คิดเป็นร้อยละ 87.61 ของคดีที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย โดยเป็นคดีที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จทุกประเด็นหรือสำเร็จบางประเด็น จำนวน 269 คดี ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ จำนวน 196 คดี และมีคดีอยู่ระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ย จำนวน 68 คดี โดยศาลปกครองที่มีคดีไกล่เกลี่ยมากที่สุดคือ ศาลปกครองกลาง จำนวน 170 คดี ไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จ จำนวน 153 คดี รองลงมาเป็นศาลปกครองอุบลราชธานี จำนวน 150 คดี และไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จ จำนวน 148 คดี (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566)
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองนั้นมีเจตนารมณ์เพื่อให้คู่กรณีมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการระงับข้อพิพาท และเป็นการส่งเสริมความร่วมมือของคู่กรณีในการยุติข้อพิพาทระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นผลดีที่ทำให้คู่กรณีสามารถยุติข้อพิพาทที่มีต่อกันได้ด้วยความเรียบง่าย รวดเร็ว และถูกต้องตามกฎหมาย โดยคู่กรณีสามารถยื่นคำขอต่อศาล หรือศาลเห็นเองว่า คดีนั้นควรมีการไกล่เกลี่ย และทำการไกล่เกลี่ยได้โดยความสมัครใจของคู่กรณี การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองนี้จะดำเนินการโดยตุลาการศาลปกครอง ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสำนวนคดีนั้น ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยไม่ได้มีรูปแบบ พิธีการ หรือขั้นตอนที่เคร่งครัด เพื่อช่วยให้คู่กรณีสามารถสื่อสารความต้องการและข้อจำกัดของทุกฝ่ายได้อย่างเต็มที่ และเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน โดยมีระยะเวลาการไกล่เกลี่ยที่ชัดเจน และกระชับ คือ ดำเนินการภายใน 90 วันนับแต่วันนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งแรก สำหรับลักษณะของคดีที่ศาลปกครองมีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้มี๔ ประเภท ได้แก่ คดีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร หรือกระทำละเมิด หรือความรับผิดอย่างอื่น คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และคดีพิพาทอื่นตามที่กำหนดในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเภทคดีที่มีการขอไกล่เกลี่ยมากที่สุด คือ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
จากผลสำเร็จของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองเป็นกลไกที่สำคัญอีกกลไกหนึ่งและเป็นทางเลือกของการระงับข้อพิพาททางปกครอง ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคู่กรณี และส่งเสริมการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น