ผลสำรวจสถานการณ์เด็ก-สตรีในไทย ชี้มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น การคลอดในวัยรุ่นลดลง การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงลดลง แต่แนวโน้มเรื่องการศึกษาและพัฒนาการของเด็กยังน่าเป็นห่วง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ยูนิเซฟ ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย หรือ MICS ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ว่า การสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความน่ากังวลเกี่ยวกับแนวโน้มด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัย การศึกษา ภาวะโภชนาการของเด็กและการแต่งงานก่อนวัยอันควร ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการดำหนดนโยบาย หรือมาตรการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรีของไทยให้ครอบคลุมทุกด้าน
โดย การสำรวจ MICS ครั้งนี้เก็บข้อมูลจาก 34,000 ครัวเรือนทั่วประเทศระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายมาตราการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่า อัตราการคลอดในวัยรุ่นของประเทศไทยลดลงจาก 23 คนต่อ 1,000 คนในปี 2562 เหลือ 18 คนต่อ 1,000 คนในปี 2565 ขณะที่อัตราของเด็กอายุ 1-14 ปีที่เคยถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 75 ในปี 2558 เหลือร้อยละ 58 และร้อยละ 54 ในปี 2562 และ 2565 ตามลำดับ นอกจากนี้ผลสำรวจในปี 2565 ยังพบว่าผู้ชายและผู้หญิงจำนวนมากขึ้นมีทัศนคติไม่ยอมรับความรุนแรงในครอบครัว
ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในไทย โดยในปี 2565 มีทารกอายุไม่เกิน 6 เดือนร้อยละ 29 ที่ได้กินนมแม่ล้วนในช่วง 6 เดือนแรก เมื่อเทียบกับเพียงร้อยละ 14 ในปี 2562 นอกจากนี้ พบว่ามีแม่จำนวนมากขึ้นที่ให้นมลูกอย่างต่อเนื่องจนถึง 1 ปีและ 2 ปี
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจครั้งนี้ก็สะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวลด้านการศึกษาและพัฒนาการของเด็กเมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนซึ่งจัดทำก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยพบว่าอัตราการเข้าเรียนหลักสูตรปฐมวัยของเด็กอายุ 3-4 ปีลดลงจากร้อยละ 86 ในปี 2562 เหลือเพียงร้อยละ 75 ในปี 2565 นอกจากนี้ อัตราการเข้าเรียนสุทธิของเด็กอายุ 5 ปี (เมื่อเริ่มปีการศึกษา) ลดลงจากร้อยละ 99 เหลือเพียงร้อยละ 88 และอัตราของเด็กปฐมวัยที่มีความพร้อมในการเข้าโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย สมอง สังคม อารมณ์ และภาษา ก็ลดลงจากร้อยละ 99 เหลือเพียงร้อยละ 94 เช่นกัน
ผลสำรวจครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าอัตราของเด็กวัยประถมศึกษาที่ไม่ได้เข้าเรียนเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 4 ในปี 2565 นอกจากนี้ อัตราการไม่ได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มจากร้อยละ 3 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 5 ในปี 2565 ในขณะที่อัตราการไม่ได้เข้าเรียนยังคงสูงสุดในกลุ่มเด็กวัยชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 15 ในปี 2565
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นแนวโน้มที่น่ากังวลด้านการใช้เวลาของเด็กในการเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก ผลสำรวจในปี 2565 พบว่า ร้อยละ 62 ของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในจำนวนนี้ เด็กร้อยละ 13 ใช้เวลาเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวันหรือนานกว่านั้น เมื่อเทียบกับร้อยละ 8 ในปี 2562
ในขณะที่การเข้าถึงและการใช้เวลาเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเด็กเพิ่มขึ้น ผลสำรวจกลับชี้ว่ามีเด็กจำนวนน้อยลงที่ใช้เวลาอ่านหนังสือที่บ้าน และมีเด็กถึง 6 ใน 10 คนที่มีหนังสือสำหรับเด็กอยู่ที่บ้านไม่ถึง 3 เล่ม
ในขณะเดียวกัน ก็พบว่า มีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนน้อยลงที่ทำกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก โดยในปี 2565 มีพ่อเพียงร้อยละ 31 เท่านั้นที่ทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้กับลูกที่บ้าน เมื่อเทียบกับร้อยละ 34 ในปี 2562
ผลสำรวจครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ทักษะพื้นฐานด้านการอ่านและการคิดเลขของเด็ก ๆ ก็มีแนวโน้มแย่ลงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในปี 2565 มีเด็กในวัยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 47) ที่มีทักษะด้านการอ่านขั้นพื้นฐาน ซึ่งลดลงจากร้อยละ 52 ในปี 2562 และมีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่มีทักษะพื้นฐานด้านการคำนวณ เมื่อเทียบกับร้อยละ 47 ในปี 2562