บอร์ดรถไฟ ตีกลับผลการศึกษาเลือกที่ตั้งโรงงานมักกะสันใหม่ ยังไม่ปลื้ม ‘สุพรรณบุรี-เขาชีจรรย์’ แนะเพิ่ม ‘ช่องแค-ลำนารายณ์’ เข้ามาเทียบ คาดประชุมครั้งหน้าได้สถานที่ก่อสร้างใหม่ชัดเจน ก่อนกางแผนหลังได้ที่ตั้งใหม่ จะใช้เวลา 1 ปีศึกษาในรายละเอียด ก่อนพลิกปูมแผนเนรมิต ‘มักกะสัน’ เมื่อปี 2560
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 23 มิถุนายน 2566 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 66 มีมติไม่รับการพิจารณาผลการศึกษาเพื่อคัดเลือกพื้นที่โรงงานมักกะสันแห่งใหม่จากฝ่ายการช่างกล
โดยคณะกรรมการขอให้ไปรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมกลับมา เพราะตอนนี้เห็นตรงกันประเด็นหนึ่งแล้วว่า จะต้องย้ายโรงซ่อมออกจากมักกะสัน ด้วยเหตุผลว่า พื้นที่มักกะสันมีมูลค่าสูง และมีความคับแคบลงไปมากแล้ว การมีโรงงานซ่อมอยู่ใจกลางเมือง ดูจะไม่เหมาะสม แต่การย้ายออกจากที่ปัจจุบัน คำถามถัดมาที่ต้องพิจารณาคือจะย้ายไปที่ไหน?
โดยโจทย์ของการเลือกสถานที่สำหรับก่อสร้างเป็นโรงซ่อมรถไฟแห่งใหม่นั้น มี 2 เงื่อนไขสำคัญคือ 1. ต้องไม่ห่านจากกรุงเทพฯเกิน 200 กม. และ 2. จะต้องเป็นพื้นที่ของ รฟท. ในขนาดไม่ต่ำกว่า 200 ไร่ โดยทางฝ่ายช่างกลเสนอสถานที่มาให้พิจารณาเพียง 2 แห่งคือ ที่พื้นที่บริเวณสถานีสุพรรณบุรี อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ที่มีพื้นที่ประมาณ 240 ไร่ และพื้นที่บริเวณสถานีชุมทางเขาชีจรรย์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ 454 ไร่
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ รฟท.มองว่า ยังมีพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่อีกหลายแห่ง จึงอยากให้ไปทำข้อมูลเพิ่มเติม โดยสถานที่ที่คณะกรรมการอยากให้ไปทำข้อมูลเพิ่มเข้ามา อาทิ ที่ดินรถไฟบริเวณ ต.ช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์, ที่ดินรถไฟบริเวณลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี เป็นต้น รวมถึงให้สำรวจความคิดเห็นประชาชนประกอบมาพร้อมความคุ้มค่าในการลงทุนแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการ รฟท.ครั้งหน้า น่าจะได้ข้อสรุป โดยจะเห็นชอบผลการศึกษาของโครงการได้ในลำดับถัดไป
บรรยากาศภายในโรงงาน เมื่อปี 2562 ภาพจาก: โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ
@1 ปีศึกษารายละเอียดแล้วเสร็จ
ด้านแหล่งข่าวจาก รฟท. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า สำหรับแผนงานในการย้ายโรงงานมักกะสัน ตามผลการศึกษามีระยะเวลาอยู่ที่ 5 ปี ซึ่งรวมขั้นตอนตั้งแต่การรื้อย้ายจากจุดเดิมและก่อสร้างบนที่ดินใหม่ ซึ่งไทม์ไลน์ตอนนี้ จะต้องมีการเลือกพื้นที่ที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ให้ชัดเจนก่อน เมื่อคณะกรรมการ รฟทง เห็นชอบสถานที่สำหรับก่อสร้างแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบในรายละเอียด (Detail Design) ว่า ที่แห่งใหม่นี้ จะประกอบด้วยอะไรบ้าง มูลค่าโครงการเท่าไหร่ ระยะเวลาการก่อสร้าง รูปแบบลงทุนและการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย ซึ่งอย่างน้อยจะใช้เวลาอีก 1 ปี จึงจะศึกษาในรายละเอียดแล้วเสร๋จ ก่อนจะเสนอฝ่ายนโยบายพิจารณาดำเนินการต่อไป
@พลิกผลการศึกษา ‘มักกะสัน’ ปี 60
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับที่ดินมักกะสัน เมื่อปี 2560 มีการศึกษาใหม่ โดยนำเอาผลการศึกษาเดิมเมื่อปี 2553 มาทบทวนใหม่ โดยครั้งนั้นให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้ศึกษา
ผลการศึกษาระบุว่า ที่ดินพัฒนามักกะสันจะมีพื้นที่รวม 745 ไร่ ใช้ประโยชน์เป็นโรงงานมักกะสัน 324 ไร่ มีพื้นที่จะนำมาพัฒนา 4 โซน แบ่งเป็น แปลง A จำนวน 139.82 ไร่ เป็นส่วนธุรกิจการค้า เช่น City Air Terminal ร้านค้าปลอดภาษี ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม-สัมมนา อาคารสำนักงาน และอาคารจอดรถ ซึ่งส่วนนี้ได้ถูกนำไปบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเรียบร้อยแล้ว
แปลง B จำนวน 117.31ไร่ เป็นส่วนธุรกิจสำนักงาน เช่น มักกะสัน ทาวเวอร์ อาคารสำนักงาน ธนาคาร ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ อุตสาหกรรมของรัฐ และศูนย์แสดงสินค้า
แปลง C จำนวน 151.40 ไร่ ส่วนที่อยู่อาศัยและสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลระดับนานาชาติ (Exhibition Center) โรงเรียนนานาชาติ เวิลด์คัพคิทเช่นมาร์ท (ตลาดอาหารระดับโลก) ศูนย์แสดงสินค้าและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และ “แปลง D” จำนวน 88.58 ไร่ ส่วนพิพิธภัณฑ์ ร.ฟ.ท. ที่ทำการส่วนราชการ โรงแรม
ทั้งนี้ ที่ดินมักกะสัน ทางรัฐบาลกำหนดให้มีสวนสาธารณะ 150 ไร่ ให้เป็นปอดของกรุงเทพฯ จากการศึกษาได้แบ่งที่ดินสำหรับพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ 160 ไร่ อยู่ทางทิศใต้บึงมักกะสัน ส่วนมูลค่าโครงการลดลงอยู่ที่กว่า 100,000 ล้านบาท เพราะพัฒนาไม่ได้เต็มที่จากการกันพื้นที่บางส่วนเป็นสวนสาธารณะ และโรงงานมักกะสัน หากมีการพัฒนาเต็มพื้นที่จะมีมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท
ภาพการพัฒนาตามผลการศึกษาเมื่อปี 2560