‘ชัชชาติ’ เปิดศาลากลางเสาชิงช้า 6 มิ.ย. 66 นัดหารือ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แย้มมี 17 ประเด็นที่อยากคุย ออกตัวหารือในฐานะที่ได้ ส.ส.กทม.มากสุด ไม่ใช่ในฐานะนายกฯ ส่วนประเด็นปูดเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ 300,000 บ. ให้รองปลัดกทม.รวบรวมหลักฐาน มั่นใจขึ้นปี 2 ดูแลคนกทม.ได้ทั้งหมด ไม่เน้นฐานเสียงอีกต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 2 มิถุนายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการแจ้งเบาะแสว่า เจ้าหน้าที่ของกทม.เรียกรับผลประโยชน์เป็นค่าดำเนินการในการออกใบอนุญาตก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาทนั้น เป็นการแจ้งเบาะแสจากเพื่อนของตนเอง
เบื้องต้น ยังไม่มีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว แต่เป็นเหมือนเสียงที่คนพูดๆกันมา แต่ก็ได้ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้องไปสืบค้นหลักฐาน ข้อเท็จจริงและข้อมูลเพิ่มเติมมา และได้ให้นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกทม.และนายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าฯกทม. ร่วมกันเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งในตอนนี้รู้ชื่อและตำแหน่งผู้ต้องสงสัยแล้ว แต่ขอไม่เปิดเผยในเวลานี้ เพราะอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการอะไร ยังไม่ทราบ แต่น่าจะเป็นโครงการที่เอกชนทำ และพยายามเตือนผู้อำนวยการสำนักงานเขตทุกเขตให้กวดขันเรื่องพวกนี้ รวมถึงหากประชาชนมีเบาะแสการทุจริตของเจ้าหน้าที่ก็สามารถแจ้งมาได้ทางทราฟฟี่ฟองดู (Traffy Fondue)เพราะทางกทม.ก็ต้องการข้อมูลพวกนี้
นายชัชชาติกล่าวต่อว่า กทม.พยายามนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ เพื่อลดช่องว่างในการเกิดทุจริต เช่น การขอใบอนุญาตออนไลน์, การปรับระเบียบและข้อบังคับต่างๆให้ทันสมัยขึ้น, การใช้ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ 2548 ที่จะกำหนดกรอบเวลาปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น, การให้คณะกรรมการเป็นผู้ร่วมตัดสินใจในการขอใบอนุญาต เพื่อไม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รายเดียใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นนโยบายที่จะไม่ทนการคอร์รัปชั่น
เมื่อถามว่า การค้นพบประเด็นทุจริตต่างๆ ส่งผลกระทบกับการขัลเคลื่อนนโยบายของกทม. บ้างหรือไม่ นายชัชชาติตอบว่า ไม่เลย ตรงข้ามดีขึ้นด้วยซ้ำ เชื่อว่า ถ้าปกป้องคนทำงาน กำลังใจของคนทำงานก็จะดีขึ้น แต่ถ้าปล่อยให้ระบบแบบนี้กัดกร่อนไปเรื่อยๆ คนทำดีจะหมดกำลังใจ ประกอบกับคนส่วนใหญ่ไม่ชอบการทุจริตคอร์รัปชั่น สามารถเดินหน้าทั้งการปราบปรามและป้องกันการทุจริต ควบคู่ไปกับการทำงานด้านนโยบายได้ ซึ่งการทุจริตต่างๆ ทำให้เม็ดเงินที่จะเอาไปทำงบประมาณลดลง อีกทั้ง ความโปร่งใสก้เป็นหนึ่งในนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนด้วย
@นัด 'พิธา' 6 มิ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวถามถึงการนัดหารือกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 มิ.ย. 2566 นี้ จะหารือกันเรื่องอะไรบ้าง นายชัชชาติตอบว่า จะหารือกัน 17 ประเด็น อาทิ การนำพื้นที่สาธารณะตัวอย่างเช่นพื้นที่ใต้ทางด่วน นำมาพัฒนาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์, ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, การแก้ไข พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528, รถไฟฟ้าและการขนส่ง, ระบบสาธารณสุข, PM2.5, โซนนิ่งรถเข้าเมือง, การย้ายท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) เป็นต้น
อนึ่ง ต้องขอเรียนกับผู้สื่อข่าวว่าการหารือกับนายพิธาในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ยังไม่ใช่การหารือในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการหารือในฐานะที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลได้รับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพื้นที่กรุงเทพฯมาเป็นอันดับ 1 ที่ 32 ที่นั่ง ซึ่งจะต้องมีการนำนโยบายต่างๆไปขับเคลื่อนในที่ประชุมรัฐสภาอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า การได้นายพิธามาเป็นนายกรัฐมนตรี เคียงคู่นายชัชชาติที่เป็นผู้ว่าฯกทม. ทำให้หลายคนสะท้อนว่าหอมกลิ่นความเจริญนั้น นายชัชชาติระบุว่า มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผู้คนในสังคมตื่นตัวกันมากขึ้น เชื่อว่าพวกเราก็พยายามทำอย่างเต็มที่
@ปี 2 ไม่กดดัน ทำเพื่อคนกทม.ทุกคน
ส่วนการทำงานในปีที่ 2 ยังไม่กดดัน แม้จะได้คะแนนเสียงมาเกือบ 1.4 ล้านเสียง แต่ก็ต้องดูแลประชากรในกทม.จำนวน 5 ล้านคนทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีคนที่ไม่ได้เลือกตนเข้ามา ตอนนี้คะแนนเสียงเปรียบเสมือนเป็นเรื่องอดีตไปแล้ว ตอนนี้ต้องรับผิดชอบประชากรจำนวน 5 ล้านคนที่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ และหากรวมประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานหรือเรียนหนังสือ ก็จะมีจำนวนรวมถึง 10 ล้านคนที่ต้องดูแล ซึ่งในการบริหารงานก็ไม่อยากให้ประชาชนผิดหวัง
“พวกเราไม่ได้หวังอำนาจอะไรนะ เราแค่จะทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ประชาชนมีความสุขขึ้น พอเห็นประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอันนี้คือความสุขของเราจริงๆ” ผู้ว่าฯกทม.กล่าวตอนหนึ่ง
ส่วนภาพรวมในปีที่ 2 จะทำงานเชิงรุกมากขึ้น ประกอบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี คณะผู้บริหารชุดปัจจุบันได้มีโอกาสร่างขึ้นมาอย่างเต็มตัวแล้ว ยกตัวอย่างเช่น งบกลางวงเงิน 9,000 ล้านบาทที่อยู่ในร่าง จะมีโครงการลงในส่วนที่เป็นเส้นเลือดฝอยมากขึ้น ส่วนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ก็ไม่ได้ทิ้ง เพราะในงบประมาณก็มีการผูกพันโครงการต่างๆที่เป็นเมกะโปรเจ็กต์ วงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท
แต่ในส่วนของโครงการใหม่ๆ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และ พระโขนง-ท่าพระ วงเงิน 20,000 ล้านบาทที่บรรจุในแผนเดิม ก็อาจจะโอนให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการน่าจะเหมาะสมกว่า เพื่อให้ไปเชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพมากขึ้น แล้วงบที่จะลงทุนส่วนนี้ไปบริหารจัดการอย่างอื่น เช่น ไปลงในโรงเรียน ระบบสาธารณสุข หรือเอาไปทำฟีดเดอร์ก็ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนัดหารือระหว่างนายพิธา และนายชัชชาติ เบื้องต้นนัดหมายในวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ที่ศาลากลางกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เวลา 13.30 น.