กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระตุ้นเตือน รณรงค์สุขบัญญัติ “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่สูบ ไม่เสี่ยง” สร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง สื่อสาร เตือนภัย ให้เด็ก เยาวชนและประชาชนมีความตระหนักรู้ ตื่นตัวอันตรายจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2566 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธานเปิดงานกิจกรรมรณรงค์สุขบัญญัติแห่งชาติ ปี 2566 “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่สูบ ไม่เสี่ยง” โดยมีรองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ผู้แทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพ ประธานชมรม อสม.แห่งประเทศไทย แกนนำยุว อสม. ภาคีเครือข่าย เข้าร่วมกิจกรรมในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบนโยบาย สุขบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 เพื่อยกระดับกระตุ้นเตือนให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้รับการปลูกฝังและสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องตั้งแต่เยาว์วัยและทุกช่วงชีวิต ด้วยการปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอจนเป็นสุขนิสัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีทุกกลุ่มวัย ตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ
โดยในปี 2566 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ข้อสรุปร่วมกันในการกำหนดให้มีการสื่อสารรณรงค์พฤติกรรมตามสุขบัญญัติแห่งชาติ ข้อที่ 5 งดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ โดยใช้ประเด็นสื่อสารหลักคือ “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่สูบ ไม่เสี่ยง” เพื่อเป็นการสื่อสารให้เด็ก เยาวชนและประชาชนมีความตระหนักรู้และตื่นตัวถึงอันตรายจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และร่วมมือในการเฝ้าระวังสื่อสารเตือนภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่
จากข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทย โดยกองสุขศึกษา ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 21 เมษายน – 22 พฤษภาคม 2566 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 17,767 คน จากทุกภูมิภาค พบว่าเยาวชน สูบบุหรี่มวน ร้อยละ 11.5 สูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 8.3 และสูบบุหรี่ทั้ง 2 ชนิดร้อยละ 4.3
ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมรณรงค์สุขบัญญัติแห่งชาติ ปี 2566 ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันโดยรณรงค์ตามแนวทางสุขบัญญัติแห่งชาติ “เครือข่ายร่วมใจ เตือนภัย บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่สูบ ไม่เสี่ยง” จากเครือข่ายในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทำให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวัง สื่อสารเตือนภัย “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่สูบ ไม่เสี่ยง” ในกลุ่มเด็ก เยาวชน เช่น แกนนำยุว อสม. และ อสม. ซึ่งเป็นแกนนำสุขภาพในชุมชน ร่วมสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง สื่อสาร เตือนภัย อันตรายจากการสูบบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมกันในการขับเคลื่อนให้เยาวชนลดการสูบบุหรี่ และคาดว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ได้