สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมลงนามความร่วมมือการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล หวังการร้องเรียนทุจริตในภาครัฐวิสาหกิจลดลง เผยพบเรื่องร้องเรียนการทุจริตในภาครัฐวิสาหกิจจำนวนมาก ปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 324 เรื่อง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน 51 แห่ง และการปาฐกถาพิเศษเรื่อง 'การยกระดับธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล ในภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ' โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวว่า ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือสามฝ่าย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2560 เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับค่าคะแนน ITA และลดเรื่องร้องเรียนการทุจริตในภาครัฐวิสาหกิจ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริตในภาครัฐวิสาหกิจ (พ.ศ. 2562 - 2565) ขับเคลื่อน และขยายผลบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ตามแนวทางที่ระบุไว้ครบถ้วนแล้ว โดยผลการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสามฝ่าย ในภาพรวมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยผลคะแนนย้อนหลังสี่ปี คือ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 - 2565 อยู่ในระดับ A มีช่วงคะแนน อยู่ระหว่าง 85 - 94.99 คะแนน
แต่อย่างไรก็ดี มีข้อค้นพบว่ายังมีเรื่องร้องเรียนการทุจริตในภาครัฐวิสาหกิจจำนวนมาก โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 439 เรื่อง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 397 เรื่อง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 296 เรื่อง และปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 324 เรื่อง
นอกจากนี้ พบว่าคำกล่าวหาสูงสุดสามอันดับแรก คือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารงานบุคคล ซึ่งต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจ ว่าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆไม่เสี่ยงต่อการเกิดทุจริต ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาการทุจริต การนำตัวคนผิด มาลงโทษไม่อาจใช้กระบวนการตามกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวจำเป็นต้องส่งเสริมและพัฒนาให้ทุกองค์กรใช้หลักธรรมาภิบาล เพื่อช่วยสกัดกั้น และลดความเสี่ยงต่อการทุจริตด้วย
ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงาน ป.ป.ช. จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ต่อเนื่องเป็นครั้งที่สาม โดยเพิ่มสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ร่วมลงนามด้วย เพื่อร่วมขับเคลื่อนเรื่องธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาลในภาครัฐวิสาหกิจโดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่งนำแผนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐวิสาหกิจ (พ.ศ. 2566 - 2570) ไปขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ตามหลัก 'Apply or Explain' คือการนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละหน่วยงาน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปี พ.ศ. 2570 เรื่องร้องเรียนการทุจริตในภาครัฐวิสาหกิจจะลดน้อยลง ภายใต้การบริหารกิจกาiที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล