กสม.ชวนคนไทยร่วมผลักดันให้มีกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เนื่องในวันที่ 1 มี.ค. เป็นวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่สาร เนื่องในวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล 1 มี.ค. ประจำปี 2566 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 ให้การรับรองว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิ เสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม ความคิดเห็นทางการเมือง หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้
สิทธิของการไม่ถูกเลือกปฏิบัติดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิใช่เพียงสิทธิตามกฎหมาย แต่คือหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์ทุกคนที่พึงปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมโดยไม่แบ่งแยก ซึ่งสอดคล้องตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับที่ประเทศไทยเป็นภาคี
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติของประเทศไทย ตระหนักถึงผลกระทบที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคล เช่น กลุ่มคนพิการ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มพนักงานบริการทางเพศ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติด กลุ่มแรงงาน/แรงงานข้ามชาติ ฯลฯ ต้องได้รับและเผชิญกับความยากลำบากจากการถูกเลือกปฏิบัติ
โดยตั้งแต่ปี 2544 – 2565 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมกว่า 600 คำร้อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นการเข้าไม่ถึงสิทธิในการประกอบอาชีพและการได้รับบริการขั้นพื้นฐานจากรัฐอย่างเสมอภาค ทั้งนี้ กสม. ได้มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมาย เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติเสนอไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง และขอย้ำว่าสิทธิในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติเป็นสิทธิของทุกคน เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน
เนื่องในวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล (Zero Discrimination Day) 1 มีนาคม ประจำปี 2566 นี้ กสม. ขอเชิญชวนให้ทุกคน และองค์กรทุกภาคส่วน ร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมายกลางในเรื่องการห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่ครอบคลุมทั้งเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติที่หลากหลายและมิติของการเลือกปฏิบัติที่เปลี่ยนไปตามสภาพสังคม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในประเทศไทยทุกคนได้มีหลักประกันความเสมอภาคและร่วมกันขจัดการเลือกปฏิบัติ ให้เกิดผลได้อย่างแท้จริงในสังคมไทย