สภาผู้บริโภคยื่น สคบ.ตรวจสอบบริษัท SM True กรณีระบบจองบัตรคอนเสิร์ต NCT Dream ขัดข้อง จนทำให้หลายคนที่สมัครสมาชิก SM True MEMBERSHIP เสียสิทธิเลือกที่นั่ง และทำให้เข้าไม่ถึงบริการรับชมในราคาที่เป็นธรรม พร้อมเสนอ สคบ. กำหนดธุรกิจจัดคอนเสิร์ตเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากการที่สภาผู้บริโภคได้รับข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมาก เกี่ยวกับกรณีระบบจองบัตรคอนเสิร์ต NCT DREAM THEDREAMSHOW 2 in BKK ขัดข้องทางเทคนิค และทำให้ผู้บริโภคที่ได้สมัครสมาชิก SM True MEMBERSHIP ไม่สามารถกดบัตรในรอบสมาชิกได้นั้น
เมื่อวันที่18 ก.พ. 2566 โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ได้ส่งข้อเรียกร้องให้กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบการประกอบธุรกิจของบริษัท เอสเอ็ม ทรู จำกัด ในฐานะผู้จัดคอนเสิร์ต ที่อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมถึงขอให้กำหนดมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาจกำหนดให้การประกอบธุรกิจเอเจนซี่จัดการคอนเสิร์ตเป็นธุรกิจที่ต้องควบคุมสัญญาเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมด้านสัญญา
หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ระบุอีกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น สภาผู้บริโภคเห็นว่าการกระทำของบริษัทฯ อาจเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทฯ ไม่ได้ให้ข้อมูลกับผู้บริโภคซึ่งเป็นสมาชิก ในช่วงการเปิดให้จองบัตรที่ครบถ้วนเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นบนหน้าเว็บไซต์หรือช่องทางสมัครสมาชิก รวมถึงไม่ได้จัดสรรจำนวนบัตรให้เหมาะสมระหว่างสมาชิกกับคนทั่วไปให้เกิดความเป็นธรรม อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการชดเชยเยียวยาไว้ล่วงหน้า เช่น ค่าเสียโอกาสเมื่อเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคในลักษณะข้างต้น ที่ทำให้สมาชิกจำนวนมากเสียโอกาสในการกดบัตรส่วนที่นั่งที่ต้องการและเหลือเพียงบัตรที่นั่งซึ่งไม่ต้องการ นอกจากนี้เมื่อเกิดปัญหาขึ้น บริษัทฯ กลับเสนอเพียงการคืนเงินค่าสมัครสมาชิกซึ่งเป็นเงินของผู้บริโภคอยู่แล้ว โดยไม่มีการชดเชยความเสียหายให้เหมาะสม อีกทั้งยังกำหนดระยะเวลาให้แจ้งใช้สิทธิในระยะสั้นเพียง 7 วัน เพื่อเร่งรัดให้ผู้บริโภคใช้สิทธิขอเงินค่าสมาชิกคืน
“สภาผู้บริโภคเล็งเห็นว่าการกำหนดข้อสัญญาหรือการโฆษณาในทำนองว่า หากผู้บริโภครายใดประสงค์จะซื้อบัตรคอนเสิร์ตจะต้องเป็นสมาชิกจึงจะได้รับสิทธิการกดบัตรก่อนคนทั่วไป อาจทำให้เกิดแนวทางการประกอบธุรกิจแบบเดียวกันในผู้ให้บริการจัดคอนเสิร์ตรายอื่น และอาจทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงบริการรับชมคอนเสิร์ตได้ในราคาที่เป็นธรรม เพราะมีการชำระค่าสมาชิกเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าบัตร” โสภณ ระบุ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566 สภาผู้บริโภคได้ส่งหนังสือไปถึงบริษัทเอสเอ็มทรู และบริษัทออลทิกเก็ต เพื่อขอให้เร่งชดเชยเยียวยาผู้บริโภคที่เป็นสมาชิก SM True MEMBERSHIP โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้
1) ชดเชยเงินค่าสมัครสมาชิก SM True MEMBERSHIP เต็มจำนวน ให้สมาชิกที่ไม่ได้กดบัตรรอบเพิ่มเติมในวันที่ 12 ก.พ. 2566 โดยทันที และจัดให้มีช่องทางให้แจ้งสิทธิเพื่อขอเงินชดเชย
2) ชดเชยส่วนลดค่าบัตรคอนเสิร์ตกับสมาชิกที่กดบัตรได้ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นสมาชิกที่พบปัญหาการกดบัตรในวันที่ 11 ก.พ. 2566
3) กำหนดนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจและเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต ทั้งการเปิดเผยจำนวนบัตรที่จำหน่ายทั้งหมด การเปิดเผยจำนวนบัตรที่ให้สมาชิกมีสิทธิจองก่อน การเปิดเผยจำนวนบัตรที่คงเหลือในแต่ละรอบ และการเปิดเผยจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีสิทธิกดบัตรก่อน
4) ขอให้แจ้งข้อมูลเงื่อนไขการสมัคร สิทธิประโยชน์ของการเป็นสมาชิก SM True กับสภาผู้บริโภคเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมแนบข้อมูลผู้เสียหายที่ร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคเพื่อให้ทางบริษัทฯ ดำเนินการ
นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคฝากแจ้งถึงผู้เสียหายกรณีดังกล่าวที่เข้ามาร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค และกำลังจะร้องเรียนหรือได้ร้องเรียนไปที่ สคบ. แล้วนั้นไม่จำเป็นต้องยุติเรื่องร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค และไม่ต้องกังวลเรื่องความซ้ำซ้อนของเรื่องร้องเรียน เนื่องจากการร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคไม่ได้ซ้ำซ้อนและไม่ได้กระทบต่อการดำเนินงานของ สคบ. อีกทั้งที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ประสานงานกับ สคบ. เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค