ครม.อนุมัติร่างกฎหมายขยายเวลาลดหย่อนภาษีระยะเวลา 2 ปี เมื่อบริจาคแก่มูลนิธิด้านสาธารณสุข 13 แห่ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2566 ว่า ครม.อนุมัติร่างกฎหมายขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคด้านสาธารณสุข โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่หน่วยรับบริจาคด้านสาธารณสุข รวม 13 แห่ง (จากหน่วยรับบริจาคเดิม 10 แห่ง) เป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร มีรายละเอียด ดังนี้
1.หน่วยรับบริจาคทั้ง 13 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยรับบริจาคเดิม 10 แห่ง ได้แก่ 1) สภากาชาดไทย 2) มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ฯ 3) ศิริราชมูลนิธิ 4) มูลนิธิจุฬาภรณ์
5) มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ 6) มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนฯ 7) มูลนิธิโรคมะเร็งโรงพยาบาลศิริราช 8) มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี 9) มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า 10) มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และเพิ่มเติมหน่วยรับบริจาคใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ 1) มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2) มูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา 3) มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก
2.การยกเวินภาษีเงินได้ แบ่งเป็น 1) บุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนเป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค 2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของรายจ่ายที่บริจาคไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน
3.บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่หน่วยรับบริจาคทั้ง 13 แห่ง
นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า มาตรการทางภาษีนี้ จะทำให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีลดลงประมาณปีละ 370 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเปิดโอกาสให้ประประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุขของประเทศ