ผบก.ปคบ.พร้อมคณะแถลงจับแก๊งขายยาแก้ไอปลอมรายใหญ่ในนครฯและภูเก็ต หลังตรวจค้น 11 จุด รวบของกลางมูลค่ากว่า 70 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้กำกับการและพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) พ.ต.อ. ธรากร เลิศพรเจริญ รองผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลกวาดล้างจับกุมเครือข่ายผู้ผลิตและขายยาแก้ไอปลอมรายใหญ่ หลังนำกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ภูเก็ต รวม 11 จุด แจ้งดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 3 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางที่เกี่ยวข้องมากกว่า 80 รายการ มูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 70,000,000 บาท
พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการได้รับเบาะแสมีผู้ลักลอบผลิตยาแก้ไอปลอม ออกจำหน่ายตามร้านขายยาเป็นจำนวนมาก จึงจัดกำลังลงพื้นที่สืบสวนจนทราบว่า มีแหล่งผลิตรายใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช และมีจุดกระจายสินค้าอยู่ที่จ.ภูเก็ต อีกทั้งยังมีการดัดแปลงบ้านพักใช้เป็นจุดเก็บขวดเปล่า จุดผสมวัตถุดิบ จุดบรรจุ จุดเก็บผลิตภัณฑ์ และจุดกระจายสินค้า ให้ยากต่อการตรวจสอบ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวทั้ง 11 จุด
พ.ต.อ.ธรากร กล่าวว่า ทั้งนี้จากการตรวจค้นเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึด ยาแก้ไอปลอม 66,750 ขวด ยาแก้ไอยี่ห้ออื่นๆ (ของจริง) จำนวน 18,600 ขวด ผลิตภัณฑ์ยาอื่น ๆ วัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาแก้ไอปลอม เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงพยานหลักฐานอื่น ๆ ในคดี จำนวนมากกว่า 80 รายการ มูลค่าความเสียหายประมาณ 70 ล้านบาท
รวมถึงดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นายภพ เจริญภัทรโยธิน อายุ 43 ปี น.ส.ชญาภา เจริญภัทรโยธิน อายุ 42 ปี ทั้งสองมีสถานะเป็นสามีภรรยา และนายเริงชัย จิตต์อารีย์ อายุ 46 ปี ในความผิดฐาน 'ร่วมกันผลิตและจำหน่ายยาปลอม และร่วมกันผลิตและขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต' นอกจากนี้ในขณะที่เข้าตรวจค้นยังได้ทำการจับกุมตัว นายอนุพงษ์ เรืองธัมรงค์ อายุ 35 ปี ลูกน้องของนายเริงชัย ในข้อหา 'ครอบครอบอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต' อีกด้วย หลังพบว่ามีการครอบครองอาวุธปืนขนาด 9 มม. 1 กระบอก พร้อมด้วยกระสุนปืน จำนวน 44 นัด
พ.ต.อ.เนติ กล่าวว่า จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพว่า โรงงานดังกล่าวเป็นของนายภพและน.ส.ชญาภา สองสามีภรรยา โดยให้นายเริงชัย ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลการผลิต ให้นายสุนันท์ ลูกน้องคนสนิทของนายภพ ดูแลด้านการเงินและการจัดจำหน่าย ในขณะนี้มีการประสานติดต่อจะขอเข้ามอบตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขบวนการดังกล่าวลักลอบผลิตและจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2562 เริ่มจากผลิตยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Datissin (ฝาแดง) กระทั่งต้นปีที่ผ่านมา จึงเริ่มเปลี่ยนมาผลิตยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Diphenyl (ไก่แดง) แทน ส่วนยาแก้ไอปลอมยี่ห้ออื่น ๆ ที่ตรวจยึดได้อีกนั้น ทราบว่าเป็นการสั่งซื้อมาจากบุคคลอื่น อยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผล
พ.ต.อ.เนติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จากแนวทางสืบสวนยังทราบว่า รูปแบบการผลิตยาแก้ไอปลอมของขบวนการดังกล่าวจะเริ่มจากการสั่งซื้อน้ำเชื่อมกลูโคส หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล กลิ่นราสเบอรี่ และมีการสั่งผลิตฉลากปลอมจากบริษัทต่าง ๆ ในพื้นที่ กทม. อีกทั้งยังพบว่า เครือข่ายดังกล่าวมีการกระจายสินค้ายาแก้ไอปลอมไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น กทม. ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง นครปฐม สมุทรสาคร ภูเก็ต ชุมพร สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี โดยตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ถึงปัจจุบัน เครือข่ายของนายภพ มีรายได้จากการจำหน่ายยาแก้ไอปลอมมากกว่า 80 ล้านบาท