‘ชัชชาติ’ ขอคนกทม.เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอีก 1 วัน หากฝนตกอีกอาจท่วมแต่ไม่นาน ห่วง ‘เขื่อนป่าสักฯ’ ระบายน้ำเหนือแม้จะรับปากว่าจะปล่อยน้ำไปทางฉะเชิงเทรา พร้อมตั้งศูนย์ลุย 6 เรื่องด่วน ก่อนปลื้มโมเดล ‘กรอ.กทม.’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 10 ตุลาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ครั้งที่ 22/2565 ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง
นายชัชชาติ กล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้มีการรายงานสถานการณ์น้ำของเมื่อวาน (9 ต.ค.65) ที่มีเหตุน้ำท่วมสุขุมวิท ซึ่งเป็นจังหวะที่น้ำ 3 น้ำ ได้แก่ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุนมาเจอกัน ส่งผลให้น้ำที่บางเขนสูงถึง 2.40 เมตร ปากคลองประมาณ 2.30 เมตร ทำให้การระบายน้ำออกทำได้ช้า แต่น้ำก็ลงหมดพอเที่ยงคืนก็แห้งหมด ตอนนี้ก็คงต้องรอฝนอีกวันหนึ่ง ฝากประชาชนเฝ้าระวังฝนอีก 1 วัน ถ้ามีฝนตกในพื้นที่น้ำก็น่าจะขึ้นสูงมาอีก พรุ่งนี้ (11 ต.ค.65) ไปน่าจะเบาลง
ห่วง เขื่อนป่าสักฯ ปล่อยน้ำ
น้ำที่ต้องติดตามคือที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่มีน้ำเกิน 100% อยู่ที่ 114% จะมีการผันน้ำลงมา แต่กรมชลประทานยืนยันว่า จะไม่ผันน้ำเข้าสู่ กทม. จะดึงออกทางบึงฝรั่ง ออกทางคลองนครเนื่องเขต ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา พยายามระบายออกทางตะวันออกให้มากที่สุด แต่ไม่ประมาท คงต้องทำคันกั้นน้ำเสริมทางตะวันออกไว้ ถ้าเกิดต้องระบายลงมาจะลงคลองทางตะวันออกแล้วมาทางคลองลำปะทิว ลงมาถึงลาดกระบัง ตอนนี้ได้นำ Big bag ไปทำทำนบกั้นน้ำเสริมความมั่นใจตามตำแหน่งต่าง ๆ ไว้ เพื่อชะลอน้ำให้สามารถผันน้ำได้ดีขึ้น
สภาพโดยรวมน้ำเหนือดูจากเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล น้ำยังไม่ถึง 100% สามารถชะลอการปล่อยน้ำเหนือลงมาได้ และกรมชลประทานก็บอกว่าจะชะลอการปล่อยน้ำลงมา สถานการณ์ว่าจะพอผ่านพ้นไปได้ ซึ่งผ่านวันนี้ไปน้ำฝนน่าจะเบาลง เหลือการดูแลด้านตะวันออก จากนั้นก็จะผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ นอกจากนี้ได้มีการวางแผนดำเนินการถึงปีหน้าด้วย
เสริม Big Bag 1,000 ลูก
ด้านนายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมว่า ตอนนี้ได้จัดเตรียมทำ Big bag จำนวน 1,000 ลูก แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้ทั้งหมด เบื้องต้นจุดที่ยืนยันตอนนี้อยู่ที่คลอง 8 คลอง 9 คลอง 10 คลอง 11 และคลองหกวาสายล่าง
ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ 6 เรื่อง
นอกจากนั้น กทม. จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อดูเรื่องเร่งด่วนหลัก ๆ 6 เรื่อง คือ เรื่องฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งตอนนี้ได้ออกมาตรการมาค่อนข้างเยอะ แบ่งเป็นระดับ 4 ระดับ ระดับ 1 ค่าฝุ่นไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. ระดับ 2 ค่าฝุ่นระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. ระดับ 3 ค่าฝุ่นระหว่าง 51-75 มคก./ลบ.ม. และระดับ 4 ค่าฝุ่นมากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นแผนที่สอดคล้องกันแผนชาติ และได้เริ่มดำเนินการแล้ว
เช่น เริ่มจากหาต้นตอฝุ่น ใช้ Traffy Foudue ในการแจ้งฝุ่น เตรียมการพยากรณ์ล่วงหน้า เตรียมระบบตรวจวัดให้มากขึ้นครบ 1,000 จุด ตรวจโรงงาน 1,222 แห่ง เริ่มตรวจรถควันดำ ควบคุมการเผาโดยลงพื้นที่ที่มีการเผามากในปีที่แล้ว ตรวจแพลนท์ปูน ตรวจรถยนต์ 14 จุดต่อวัน ตรวจรถบรรทุกโดยสาร 2 วัน/สัปดาห์ และสนับสนุน Eco System คือ รถ EV มีจอแสดงผลในโรงเรียน ขณะนี้พิจารณากระบวนการในการดำเนินงานอยู่ จะมีป้ายบอกผลคุณภาพอากาศทุกโรงเรียนใน กทม. โดยจะมีการใช้บิลบอร์ดของ กทม. ในการแจ้งเหตุแล้ว ซึ่งในแต่ละระดับจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น สิ่งที่ทำคือ ให้มีศูนย์ปฏิบัติการ เรื่องฝุ่นขึ้นมา เป็นการรวมศูนย์และรายงานความหน้า รวมถึงการซักซ้อมความเข้าใจมาตรการก่อน
ศูนย์ที่ 2 คือ ศูนย์เกี่ยวกับการจราจรและเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งมีศูนย์อยู่แล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ของศูนย์ให้เต็มที่ ในการรวมเรื่องปัญหาการจราจรและความปลอดภัย โดยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เดือนที่ผ่านมาได้มีการดูเรื่องจุดฝืนการจราจร โดยนำข้อมูล 2 ด้าน คือ 1. ข้อมูลที่เขตรายงานมา และข้อมูลตำรวจจราจรในท้องที่ 2. ข้อมูลความเร็วเฉลี่ยของรถในเส้นทางต่าง ๆ เพื่อดูว่าจุดฝืดมีตรงไหนบ้าง โดยแบ่งออกมาเป็น 4 กลุ่ม
โดยกลุ่มที่ 1 สามารถจัดการได้เลย โดยใช้วินัยจราจร ในการกำกับดูแล ในกลุ่มที่ 2 ที่กำลังวิเคราะห์อยู่ คือเรื่องของการปรับแก้อย่างง่าย เช่น การขีดสีตีเส้น การปักป้ายจราจร โดยพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าและงบประมาณ กลุ่มที่ 3 ต้องดำเนินงานร่วมกับจราจร เช่น การจัดระเบียบการจราจร การตั้งจุดกลับรถ โดยใช้ด้านกายภาพเข้ามาผสมด้วย กลุ่มที่ 4 เป็นกรณีที่ต้องใช้โครงการขนาดใหญ่ เช่น ปริมาณการจราจรหนาแน่นอาจจะต้องทำสะพาน สร้างทางเชื่อม หรือขยายถนนเพิ่ม
ศูนย์ที่ 3 คือ ศูนย์ที่จะดูแลเกี่ยวกับเรื่องหาบเร่แผงลอย ซึ่งนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. อีกท่าน ได้ดำเนินการมานานแล้ว โดยจะรวมศูนย์และออกมาตรการที่เกี่ยวข้อง ศูนย์ 4 คือ เรื่องยาเสพติด ซึ่ง กทม. มีกระบวนการอยู่แล้ว ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นขึ้นเพื่อให้ตอบสนองต่อเรื่องกรณีเหตุการณ์ที่หนองบัวลำภู เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กทม.ได้เฝ้าระวังตลอด เพราะมีศูนย์ที่ดูแลรักษาและบำบัดผู้ติดยาเสพติด แต่ทำตรงนี้เพื่อเป็นศูนย์กลางและบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์ที่ 5 คือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและความโปร่งใส ซึ่งมีศูนย์อยู่ที่ ก.ก. อยู่แล้ว ซึ่งจะนำมาผลักดันในเรื่องของความโปร่งใสของ กทม. ให้เข้มข้นขึ้น ศูนย์นี้จะเป็นตัวผลักดันเชิงยุทธศาสตร์ โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทำให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญในการผลักดันจากนี้เป็นต้นไป และ ศูนย์ 6 คือ ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่มีอยู่แล้ว
“ที่เรามีศูนย์บูรณาการ ไม่ใช่ว่าตั้งหน่วยงานใหม่ แต่เป็นตัวที่จะช่วยบูรณาการ ช่วยประมวลผล และสรุปข้อมูลตามระยะเวลา เช่น ศูนย์การจราจรสรุปปัญหาทุกเช้า ศูนย์ยาเสพติดรายงานทุกอาทิตย์ เพื่อช่วยให้การบริหารงานมีการบูรณาการมากขึ้น โดยมี รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ เป็นผู้ดูแลและผลักดัน” นายชัชชาติกล่าว
ปลื้มโมเดล กรอ.กทม.
ขณะเดียวกัน นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ได้มีการดำเนินการคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน กรุงเทพมหานคร (กรอ.กทม.) เพื่อสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยอาศัยกลไกในการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนประสานความร่วมมือในการทำงานแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ พร้อมสนับสนุนขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศในอนาคต และเป็นการขับเคลื่อนผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายภายใต้มิติเศรษฐกิจดี
ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งได้มีการประชุมครั้งแรกกันไปแล้ว มีความคืบหน้าหลายอย่าง โดยแต่ละหน่วยงานได้มีข้อเสนอ อาทิ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เสนอปรับรูปแบบการขออนุญาตก่อสร้างให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ การทบทวนราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การยกระดับ Street Food โดยการสร้าง Ecosystem ที่เหมาะสมกับการพัฒนาและบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs
ส่วนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอเรื่องโครงการบริหารจัดการขยะและการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ (Upcycling) โครงการฟื้นฟูและปรับปรุงคลองต้นแบบ อาทิ คลองหัวลำโพง โครงการจัดการความปลอดภัยร้านอาหาร Street Food & Safety Food ด้านสมาคมธนาคารไทย เสนอนำเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาช่วยในการพัฒนา กทม. และผลักดันให้เกิด Digital Transformation ร่วมส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ของประชาชนใน กทม. เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และสนับสนุนการพัฒนา กทม. เป็นเมืองนำร่องในการเชื่อมโยงระบบชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาค
สำหรับกรุงเทพมหานคร เสนอการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Regional Hub) และขอความร่วมมือภาคเอกชนร่วมกัน Work From Home ในช่วงวิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 ระหว่างเดือน ธ.ค. 65 – ก.พ. 66 ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานย่อยขึ้นมาดำเนินการ รวมถึงรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการชุดใหญ่ทราบเพื่อดำเนินการ