‘ชาญชัย’ ค้านมติครม.ให้ ทอท. บริหารสนามบินภูมิภาค 3 แห่ง ‘อุดร - บุรีรัมย์ - กระบี่’ เหตุบริหารล้มเหลวและส่อผิดกฎหมายหลายฉบับ ก่อนจี้ ครม. เน้นไปที่ ‘รมว.คลัง-คมนาคม’ เร่งทบทวนก่อนเกิดความเสียหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 1 กันยายน 2565 จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เข้าไปดูแลและรับผิดชอบการบริหารจัดการท่าอากาศยานในภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) พร้อมกำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง ภายใต้กรอบวงเงินลงทุน 9,199 ล้านบาท ทั้งนี้ ทอท.คาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเติบโตภายในปี 2567 หลังการฟื้นตัวจากโรคระบาดโควิด-19
อ่านประกอบ: ครม.ไฟเขียว ‘ทอท.’ บริหารสนามบิน ‘อุดรธานี-บุรีรัมย์-กระบี่’ แทน ‘ทย.’
ล่าสุด นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับมติครม. ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ทอท. เป็นผู้บริหารสนามบินนานาชาติ ทั่วประเทศ 6 สนามบิน ประกอบด้วยสนามบินที่อยู่ในกรุงเทพฯ 2 สนามบิน คือดอนเมือง และสุวรรณภูมิ มีสนามบินที่อยู่ต่างจังหวัดอีก 4 สนามบิน คือเชียงราย เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ (สงขลา) แต่พบว่ามีการบริหารงานที่ล้มเหลว อีกทั้งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีเรื่องการบริหารที่ฉ้อฉล โดยอ้างว่าไม่ต้องปฏิบัติและอยู่ในบังคับของกฎหมาย อีกทั้งยังมีการกระทำผิดกฎหมายหลายฉบับ
โดยนายชาญชัยระบุว่า ทอท. อ้างว่า เนื่องจาก ทอท. เป็นบริษัทจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชน และจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ใช่หน่วยรับงบประมาณ จึงไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. งบประมาณ และไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง กรณีให้สัมปทานแก่เอกชนผูกขาดขายสินค้าและต้องจ่ายผลตอบแทน นอกจากนี้ ทอท. ยังอ้างว่า การดำเนินกิจกรรมของบริษัท ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กรณีลดรายได้ของตนเองหลายหมื่นล้านให้แก่เอกชนและต่อสัญญาโดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ ทำให้ ทอท. ขาดทุนมากกว่า 18,000 ล้านบาท (เดือน มิ.ย.65) และเป็นเหตุให้ขาดสภาพคล่อง จนต้องขอให้รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน จำนวน 25,000 ล้านบาท ตามกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
นอกจากนี้ยังเห็นว่า ทอท. มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต เนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4101-4102/2563 ลงวันที่ 16 กันยายน 2563 ซึ่งได้พิพากษาว่า ข้อเท็จจริงมีการกล่าวถึงเจ้าหน้าที่ของ ทอท. ว่าเข้าข่ายปล่อยปละละเลยต่อการปฏิบัติตามสัญญา ที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย เช่น กรณีสัญญา ที่ทอท. ต้องได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 15 แต่สัญญาเก็บเหลือร้อยละ 3 และมีการขัดต่อสัญญาให้เอกชนเรียกร้องสิทธิ์จากผู้ขอเช่า เช่น ธนาคารเป็นจำนวน 100 ล้านบาท และหลักการใช้บังคับกฎหมาย พ.ร.บ.ร่วมทุนไม่ปฏิบัติตามสัญญา และเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ตั้งแต่มีสัญญาแต่ไม่บังคับตามสัญญา คดีนี้ตรวจสอบยอดขายส่วนแบ่งที่ตรวจสอบได้ เป็นต้น
นายชาญชัยกล่าวว่า ในเรื่องนี้ตนในฐานะผู้เสียภาษี และจากการติดตามการทำงานของหน่วยงานนี้มาตลอด ขอให้ ครม. ได้เร่งพิจารณาทบทวนมติดังกล่าว โดยเฉพาะนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กลับไปทบทวนคำพิพากษาของศาลฎีกา เพื่อไปดำเนินการลงโทษ ทอท. และแก้ไขปัญหาการทุจริตให้เรียบร้อย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล และกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่ง 2 รัฐมนตรี ต้องรู้เรื่องพวกนี้ดี แต่ยังกลับนำเรื่องเข้า ครม. ให้โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายทั้งจากในอดีต และปัจจุบัน
ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการ และกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)