‘กรรมการสิทธิ’ ชี้ชัด 3 กรณีไม่รับเข้าทำงานเพราะเป็นเอดส์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน แนะรัฐเอกชนเลิกนโยบายตรวจหาเชื้อ HIV ก่อนรับทำงาน เผยคนป่วยใช้ชีวิตร่วมกับคนธรรมดาได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 ส.ค. 2565 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ได้พิจารณารายงานผลการตรวจสอบอันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งสุขภาพของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 3 กรณี ได้แก่
(1) กรณีโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนปฏิเสธการรับเข้าทำงานของผู้ร้องรายหนึ่งเนื่องจากผลการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานแสดงผลการติดเชื้อเอชไอวี
(2) กรณีบริษัทเอกชนสองแห่งกำหนดเงื่อนไขให้ผู้สมัครงานที่ผ่านการคัดเลือกไปเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนเริ่มทำงาน
และ (3) กรณีระเบียบมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกำหนดเงื่อนไขไม่จ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลกรณีพนักงานหรือครอบครัวของพนักงานเจ็บป่วยอันเป็นผลโดยตรงของเหตุการเป็นโรคเอดส์
ชี้ทั้ง 3 เคสละเมิดสิทธิผู้ป่วย HIV
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 กำหนดว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างในสภาพทางกายหรือสุขภาพจะกระทำไม่ได้ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ได้กำหนดหน้าที่ของรัฐภาคีว่าจะต้องรับประกันถึงการมีอยู่ของสิทธิในการทำงาน ซึ่งการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางสุขภาพ อันรวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์นั้น
คณะกรรมการ ICESCR ได้มีความเห็นตามปรากฏในความเห็นทั่วไปหมายเลข 18: สิทธิในการทำงาน (General Comment No.18 – The Rights to Work: Article 6 of the International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights) ว่าเป็นการจำกัดการเข้าถึงสิทธิในการทำงาน (Accessibility to the Right to Work) นอกจากนี้ นโยบายการตรวจเลือดก่อนรับเข้าทำงาน ยังขัดต่อแนวปฏิบัติเรื่องโรคเอดส์ในโลกแห่งการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งวางแนวปฏิบัติไว้ว่าไม่ควรมีการตรวจหาเชื้อเอดส์ในกระบวนการสรรหาบุคคลหรือในการต่ออายุการจ้างงาน การตรวจสุขภาพร่างกายใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจก่อนจ้างงานหรือการตรวจร่างกายตามปกติของลูกจ้างก็ไม่ควรมีข้อบังคับให้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ดังนั้น นโยบายการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงาน จึงถือเป็นนโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางสุขภาพ
ส่วนกรณีที่ระเบียบมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกำหนดว่า จะไม่ให้เงินสวัสดิการการรักษาพยาบาล กรณีพนักงานหรือครอบครัวของพนักงานเจ็บป่วยอันเป็นผลโดยตรงของเหตุการณ์เป็นโรคเอดส์นั้น
แม้มหาวิทยาลัยแห่งดังกล่าวจะชี้แจงเหตุผลว่า พนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดนักศึกษาหรือปฏิบัติหน้าที่ให้บริการแก่บุคคลทั่วไปซึ่งจะต้องมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง ไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานหรือเป็นพาหะในการแพร่เชื้อโรค แต่กรมควบคุมโรคระบุว่า โรคเอดส์สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ การรับเชื้อทางเลือด และการติดจากแม่สู่ลูกเท่านั้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเอดส์อยู่ร่วมกับคนในสังคม และทำงานได้เหมือนคนปกติทั่วไป การกำหนดเงื่อนไขไม่ให้เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคเอดส์จึงเป็นการจำกัดสิทธิการได้รับบริการสาธารณสุขโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรว่า ลักษณะงานที่ปฏิบัติจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานหรือไม่ และยังไม่ได้สัดส่วนเมื่อคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิพนักงานให้มีสุขภาพที่ดี ระเบียบที่กำหนดเงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งสุขภาพเช่นกัน
แนะเลิกตรวจหาเชื้อ HIV ก่อนรับทำงาน
ในการนี้ กสม. จึงมีข้อเสนอแนะในภาพรวมจากทั้งสามกรณีคำร้องอันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งสุขภาพของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยระบุให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลองค์กรภาครัฐหรือเอกชนที่มีนโยบายละเมิดสิทธิของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อ ดำเนินการตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 โดยเฉพาะการให้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงาน และติดตามการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิต่อลูกจ้าง
ส่วนกรณีระเบียบการจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้น ให้แก้ไขหรือยกเลิกระเบียบดังกล่าว และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แจ้งให้มหาวิทยาลัยในสังกัดแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่ลิดรอนสิทธิผู้ป่วยโรคเอดส์ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ที่เห็นชอบหลักเกณฑ์การให้โอกาสผู้ติดเชื้อเอดส์ คนพิการ และผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดซึ่งพ้นจากสภาพการใช้ยาเสพติด เข้าทำงาน หรือรับการศึกษาในหน่วยงานภาครัฐ
“จากกรณีรายงานตรวจสอบข้างต้น จะเห็นได้ว่า หลายภาคส่วนยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่นำไปสู่ความหวาดกลัวและการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันไม่ให้เข้าถึงสิทธิในการทำงานและการรักษาพยาบาลรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่จริงแล้ว ปัจจุบันมียารักษาที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถดำรงชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไปและไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ นอกจากนี้ แม้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะเข้าสู่ระยะของโรคเอดส์ แต่โรคเอดส์ก็ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย แต่เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจ” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว