แอมเนสตี้ฯ ชี้การประหารชีวิตครั้งแรกในรอบปีของญี่ปุ่นถือเป็นการเมินเฉยต่อสิทธิในการมีชีวิต จี้ระงับโทษประหารชีวิตโดยทันที เปลี่ยนเป็นโทษจำคุกแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 จากรายงานข่าวที่ระบุว่าญี่ปุ่นได้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอโทโมฮิโระ คาโตะ (Tomohiro Kato) ผู้ใช้มีดแทงผู้อื่นถึงแก่ความตายจำนวน 7 ราย เมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในปีนี้ ฮิเดอากิ นาคากาวา (Hideaki Nakagawa) ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศญี่ปุ่นระบุว่า การแขวนคอโทโมฮิโระ คาโตะถือเป็นการเมินเฉยต่อสิทธิในการมีชีวิต หากไม่คำนึงถึงความผิดที่เขาได้ก่อขึ้น เขาก็ไม่ควรได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีด้วยน้ำมือของรัฐ
“โทโมฮิโระ คาโตะ อยู่ในขั้นตอนของการร้องขอให้มีการพิจารณาโทษประหารชีวิตครั้งที่สอง การประหารชีวิตในระหว่างการขออุทธรณ์ถือเป็นการละเมิดมาตรการระหว่างประเทศที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องโทษประหารชีวิต ทางการญี่ปุ่นควรระงับการประหารชีวิตโดยทันที ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกที่มุ่งไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างสิ้นเชิง และเปลี่ยนโทษประหารชีวิตทั้งหมดเป็นโทษจำคุกแทน” ฮิเดอากิ กล่าวย้ำ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้สั่งประหารชีวิตครั้งแรกภายใต้รัฐบาลของเขา ทั้งนี้การแขวนคอโทโมฮิโระถือเป็นการประหารชีวิตครั้งที่สองนับตั้งแต่คิชิดะเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2564
ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่ได้ใช้โทษประหารชีวิตเพียงเฉพาะในคดีอาชญากรรมร้ายแรงเท่านั้น แต่ยังถูกใช้กับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรือศัตรูทางการเมือง สื่อมวลชนที่ออกมาเปิดโปงการละเมิดสิทธิ ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น กรณีล่าสุดที่ รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 4 คน ในความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย นับเป็นครั้งแรกที่มีการประหารชีวิตและได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 โทษประหารชีวิตได้กลายเป็นเครื่องมือสำหรับกองทัพในการปราบปราม ข่มขู่ และคุกคามอย่างต่อเนื่องต่อทุกคนที่กล้าลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจของกองทัพเมียนมา
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือผู้บริสุทธิ์ หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม