วธ.ถวายพระราชสมัญญา สมเด็จพระกนิษฐาฯ 'พระอัครราชูปถัมภิกา การจดหมายเหตุไทย' แสดงถึงพระอัจฉริยภาพ แนวพระราชดำริ และพระราชกรณียกิจด้านงานจดหมายเหตุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ครั้งที่ 5/2565 ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานถวายพระราชสมัญญาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี หอจดหมายเหตุแห่งชาติไปแล้วนั้น ล่าสุด คณะอนุกรรมการได้นำเสนอให้พระราชสมัญญา และที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการถวายพระราชสมัญญา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า ” พระอัครราชูปถัมภิกา การจดหมายเหตุไทย” ที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพ แนวพระราชดำริ และพระราชกรณียกิจด้านงานจดหมายเหตุ จากการที่พระองค์ทรงเป็นต้นแบบด้านการบันทึกข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งใน และต่างประเทศจนเป็นที่ประจักษ์
นายอิทธิพล กล่าวว่า จากการที่พระองค์ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการบันทึกข้อมูลในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ นำมาซึ่งบทพระราชนิพนธ์มากมาย อาทิ พระราชนิพนธ์การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ พระราชนิพนธ์ทั่วไป-บทกวี-วิชาการ ที่ทรงคุณค่ายังประโยชน์ในด้านการศึกษา ค้นคว้า เป็นประวัติศาสตร์ และเกิดการพัฒนางานด้านจดหมายเหตุของประเทศไทย เป็นการบันทึกข้อมูลที่เป็นประวัติศาสตร์ ทำให้คนไทยได้รับทั้งความรู้ และความบันเทิงไปควบคู่กันไป จากพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนางานหอจดหมายเหตุแห่งชาติดังกล่าว ที่ประชุม กวช.จึงมอบหมายให้กรมศิลปากรจัดทำข้อมูลการถวายพระราชสมัญญาให้มีความสมบูรณ์สมพระเกียรติยศ พร้อมทั้งประสานกับสำนักพระราชวัง เพื่อขอพระราชทานกราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าละอองพระบาทขอพระอนุญาตทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา
"หลังจากที่ กรมศิลปากรดำเนินการรวบรวมข้อมูลประกอบการถวายพระราชสมัญญาแล้วเสร็จ จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบ พร้อมประกาศการถวายพระราชสมัญญาอย่างเป็นทางการ และเตรียมความพร้อมในการด้านการถวายพระราชสมัญญา การดำเนินการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในด้านการเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนางานจดหมายเหตุแห่งชาติ ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เห็นความสำคัญของการจดบันทึก และการจดจำเรื่องราวต่างๆ เพราะศาสตร์เรื่องจดหมายเหตุสามารถนำใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เป็นการบันทึกเรื่องราวปัจจุบันที่จะส่งต่อเป็นประวัติศาสตร์สำคัญในอนาคตต่อไป” นายอิทธิพลกล่าว