'ตรีนุช' ร่วมลงนามการจัดทำตัวชี้วัด 4 หน่วยงานหลัก ศธ. 'สป.-สพฐ.-อาชีวะ-สภาการศึกษา' กำกับติดตาม-ประเมินผลการปฏิบัติงานราชการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลฃ ย้ำต้องไม่เป็นเพียงตัวหนังสือบนกระดาษ หวังดำเนินงานเชื่อมโยงอย่างมีเอกภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้เป็นประธานในการลงนามในคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนายอรรถผล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา
น.ส.ตรีนุช กล่าวภายหลังการลงนามว่า การจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการปฏิบัติราชการแผ่นดินแล้ว ยังเป็นการสะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละส่วนราชการ ว่าสามารถดำเนินการบรรลุตามเป้าหมายและทิศทางขององค์กร ได้อย่างมีประสิทธิผล และมีความคุ้มค่า โดยมีประสิทธิภาพในเชิงภารกิจ และการใช้งบประมาณอย่างไร การปฏิบัติตามแผนงานสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างไร และยังช่วยให้สามารถค้นพบขีดสมรรถนะของบุคลากร และองค์กรที่จะนำมาปรับปรุง และต่อยอดให้การขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของชาติ
“การจัดทำตัวชี้วัดในประเด็นสำคัญต่างๆ เพื่อกำกับติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติราชการของแต่ละส่วนราชการว่าเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และของกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่ สามารถปฏิบัติงานเพื่อได้เกิดประสิทธิผล และมีประสิทธิภาพจริงอย่างไร ซึ่งตัวชี้วัดต้องไม่เป็นเพียงตัวหนังสือบนกระดาษ แต่ต้องมีการสื่อสารนำไปสู่พื้นที่ทุกส่วนงานทุกระดับ เพื่อให้เข้าใจ มีการดำเนินงานเชื่อมโยงบูรณาการอย่างมีเอกภาพ และมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างทรัพยากรบุคคลทึ่สำคัญของประเทศ” น.ส.ตรีนุชกล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า เป้าหมายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการสำหรับตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติงานราชการของแต่ละส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการนั้น ประกอบด้วยตัวชี้วัด 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 เป็นตัวชี้วัดการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการประเมินประสิทธิผล และการกำกับติดตามการดำเนินงาน ซึ่งมี 10 ตัวชี้วัด
และส่วนที่ 2 จะเป็นตัวชี้วัดที่ตอบสนองต่อนโบบาย และจุดเน้นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ใน 12 นโยบายหลักและ 7 วาระเร่งด่วน ซึ่งมี 15 ตัวชี้วัด โดยแต่ละส่วนราชการจะนำไปจัดทำเป็นคำรับรองตามลำดับของหน่วยรองต่อไป