ที่ประชุมคณะกรรมการการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติรับข้อเสนอขับเคลื่อนสังคมไทยไร้แร่ใยหิน ชงรัฐออกกฎหมายแบนถาวรพร้อมดัน สธ.-ศธ. นำร่องยกเลิกวัสดุแร่ใยหินก่อสร้างโรงพยาบาล-โรงเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน มีมติรับข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนมติเกี่ยวกับแร่ใยหิน จำนวน 4 ข้อเสนอ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ผ่านการระดมความคิดเห็นในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการประชุมหารือผู้ทรงคุณวุฒิฯ ประกอบด้วย
1.เสนอให้รัฐต้องออกกฎหมายห้ามใช้แร่ใยหินอย่างถาวร เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม
2.เสนอให้ สธ. ที่กำกับโรงพยาบาล สถานบริการด้านสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่กำกับดูแลโรงเรียน สถานศึกษาทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานนำร่องในการยกเลิกวัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบในการก่อสร้างอาคารสถานที่
3.เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน รวมถึงรัฐบาลทั้งคณะ ควรมีนโยบายชัดเจนเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในภาพใหญ่ร่วมกันของทุกกระทรวงในระดับประเทศ
4.เสนอให้กรมอนามัย ซึ่งมีกฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน พ.ศ. 2563 ภายใต้ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดนิยามมูลฝอยและแนวทางปฏิบัติให้ครอบคลุมถึงการจัดการแร่ใยหิน
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอถึงแนวทางการขับเคลื่อนอื่นๆ เช่น การพัฒนาหลักสูตร รายวิชา-เนื้อหา-สื่อให้เด็กเรียนรู้อันตรายจากแร่ใยหิน และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (side event) เรื่องระบบการวินิจฉัย เฝ้าระวังและส่งต่อและระบบการรักษาผู้ป่วยโรคแร่ใยหินกับกลุ่มแพทย์ ฯลฯ
ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่สำคัญ อาทิ ประเทศไทยเคยมีผลที่นำเสนอและมีข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องคนไทยเสียชีวิตจากแร่ใยหิน ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่สามารถยืนยันถึงอันตรายได้ รวมไปถึงหากต้องการออกข้อกฎหมายห้ามใช้แร่ใยหิน ต้องให้ สธ. เป็นผู้สั่งการในระดับผู้บริหาร โดยควรทำจดหมายถึงกระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลางเพื่อให้ออกระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีข้อบังคับว่าจะต้องไม่มีแร่ใยหินในการก่อสร้าง
นายอนุทิน กล่าวว่า จากการร่วมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 14 ที่ผ่านมา ได้เห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และเข้ามามีบทบาทให้คำแนะนำ เสนอวิธีการต่างๆ หากบรรลุข้อตกลงหรือเห็นพ้องร่วมกันได้ก็จะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีที่จะช่วยกันเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ที่จะสามารถทำให้ระบบสุขภาพเข็มแข็งได้
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่องแร่ใยหินเป็นเรื่องสำคัญที่รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สธ. ได้ให้นโยบายไว้ชัดเจนเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ที่ต้องการให้สังคมไทยปลอดจากแร่ใยหิน และในข้อเสนอก็มีความชัดเจน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะรับข้อเสนอทั้งหมดไปประสานงานต่อกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และจะดำเนินการประสานงานกรมประชาสัมพันธ์ในการจัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
วันเดียวกันที่ประชุม คมส. ยังได้ถอดบทเรียนการลดผลกระทบจากสื่อต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว สืบเนื่องจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมี 4 มติที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1. มติจากปี 2550 เรื่องผลกระทบจากสื่อต่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว มีสาระสำคัญคือเสนอให้มีกลไกดำเนินการเฝ้าระวัง และพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ 2. มติจากปี 2555 เรื่องการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง กรณีเด็กไทยใกล้ไอที 3. มติปี 2557 มีมตินโยบายสาธารณบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ 4. มติปี 2561 เรื่องความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตที่เป็นสื่ออีกหนึ่งรูปแบบที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ ยังได้มีการวางหมุดหมายขับเคลื่อนการลดผลกระทบจากสื่อ ประกอบด้วย การสนับสนุนการผลิตและการเผยแพร่สื่อที่มีต่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว การส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อ การบูรณาการกลไกการทำงานและการสร้างความใส่ใจของทุกภาคส่วน และการพัฒนากฎหมายและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชนและครอบครัว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือเพื่อขับเคลื่อนมติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข เรื่องการคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 โดยมีมติจำนวน 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ให้มีหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งไม่มีหลักประกันสุขภาพ 2. พัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะ โดยการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชากรเฉพาะ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพองค์กรและเครือข่ายให้มีความสามารถในการจัดการปัญหาสุขภาพด้านภาวะวิกฤต 3 .พัฒนาระบบ กลไก และรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน ช่วยเหลือ ดูแลจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม และส่งต่อที่เป็นการดำเนินการโดยชุมชน และ 4. เสริมสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐานปลอดภัยและเป็นมิตร