ครม.อนุมัติ กทม.ก่อหนี้ผูกพัน 9 โครงการ วงเงินรวม 18,158 ล้าน รวมสะพานเกียกกายด้วย-รับทราบ 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 64/65 เร่งจัดหา/กักเก็บแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยง วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ติดตามการทำนาปีและนาปรัง สร้างรายได้แก่เกษตรกร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติโครงการของกรุงเทพมหานคร จำนวน 9 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 18,158 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่จะต้องมีการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป พร้อมอนุมัติให้กรุงเทพมหานครนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าว ยื่นเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ต่อสำนักงบประมาณต่อไป
สำหรับ 9 โครงการของ กทม.ที่ ครม.อนุมัติในครั้งนี้ประกอบด้วย
-
โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกายช่วงที่ 4 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนครจากแยกสะพานแดง ถึงถนนกำแพงเพชร วงเงิน 1,100 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณอย่างละ 550 ล้านบาท
-
โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 5 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนครจากถนนกำแพงเพชรถึงถนนพหลโยธิน วงเงิน 1,025 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณอย่างละ 512.5 ล้านบาท
-
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย วงเงิน 6,000 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณอย่างละ 3,000 ล้านบาท
-
โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กสมอยึดด้านหลังคลองบางไผ่ จากบริเวณคลองพระยาราชมนตรีถึงบริเวณสุดเขตกทม.วงเงิน 1,028.30 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณทั้งหมด
-
โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบ จากบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรีถึงบริเวณประตูระบายน้ำหนองจอก วงเงิน 1,799.90 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณทั้งหมด
-
โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองบางนาจากคลองเคล็ดถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ 1 จากคลองเคล็ดถึงคลองหลอด 2 วงเงิน 1,081.50 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณอย่างละ 540.75 ล้านบาท
-
โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว วงเงิน 1,700 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณอย่างละ 850 ล้านบาท
-
โครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 วงเงิน 2,902 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณ อย่างละ 1,451 ล้านบาท
-
โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครและศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง วงเงิน 1,522 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณอย่างละ 761 ล้านบาท
ครม.รับทราบ 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 64/65
นอกจากนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ครม.มีมติรับทราบมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2564/2565 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เสนอ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 ซึ่งประกอบไปด้วย 9 มาตรการ ได้แก่
-
มาตรการ 1 เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท โดยการสูบทอยน้ำจากแหล่งน้ำมากไปสู่แหล่งน้ำน้อย ไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำใต้ดิน รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเก็บน้ำและปรับปรุงและพัฒนาระบบธนาคารน้ำใต้ดิน
-
มาตรการ 2 จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ สำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพจะพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองได้ จัดทำแผนปฏิบัติการสำรองน้ำในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร และจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำเพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
-
มาตรการ 3 ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามสภาพอากาศที่เหมาะสม
-
มาตรการ 4 กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ได้แก่ กำหนดแผนปริมาณน้ำจัดสรรในฤดูแล้งให้ชัดเจน ควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนให้เป็นไปตามแผนและมีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการน้ำต้องคำนึงถึงระดับน้ำในทางน้ำที่อาจจะลดต่ำกว่าปกติ
-
มาตรการ 5 วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยจัดทำทะเบียนเกษตรกร ระบุพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำที่นำมาใช้ให้ชัดเจนเพื่อให้การเพาะปลูกสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน
-
มาตรการ 6 เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อสนับสนุนน้ำเตรียมแปลงเพาะปลูกนารอบที่ 1 (นาปี)
-
มาตรการ 7 เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง และเตรียมแผนปฏิบัติการรองรับกรณีเกิดปัญหา เฝ้าระวัง ตรวจวัด และควบคุมการปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และชุมชนลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งควบคุมและขึ้นทะเบียนการเลี้ยงปลากระชังในแหล่งน้ำและลำน้ำ
-
มาตรการ 8 ติดตามและประเมินผลเพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผน โดยรายงานเป็นประจำทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตาม ควบคุมการจัดสรรน้ำ และการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง [นารอบที่ 2 (นาปรัง)] ให้เป็นไปตามแผน
-
มาตรการ 9 สร้างการรับรู้สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุได้ทันที
และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ หรือเสี่ยงภัยแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง โครงการการสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค โครงการปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และโครงการเพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชนหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอีกด้วย