นายกรัฐมนตรี มอบ ‘สุพัฒนพงษ์’ นั่งประธานตรวจสอบข้อเท็จจริงนิคมฯจะนะ พร้อมสั่งฟังความเห็นทุกฝ่าย ยึดประโยชน์ประเทศ ด้าน ‘วิษณุ’ ยันเอ็มโอยูฉบับ ‘ธรรมนัส’ ครม.แค่รับทราบ แปลว่ารับรู้ ไม่ใช่การอนุมัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 330/2564 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 64 แต่งตั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยสั่งให้เน้นการตรวจสอบและรับฟังปัญหาให้ครบทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน โดยต้องยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนในพื้นที่
นายธนกร กล่าวยืนยันว่า ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีประชุมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 มีมติเพียงรับทราบรายงานผลการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเสนอ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้คณะกรรมการแก้ไขฯ นำรายงานผลการหารือไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
“ยืนยันว่าการลงไปในพื้นที่ของคณะทำงาน ชุดที่แล้ว เพื่อรวบรวมข้อมูลและเสนอรายงานผ่านคณะกรรมการตามขั้นตอน ให้ ครม.ทราบถึงประเด็นต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังเน้นว่า การดำเนินโครงการทุกอย่างต้องผ่านประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ทุกขั้นตอนต้องสุจริต โปร่งใสและประชาชนต้องเห็นชอบ เป้าหมายสูงสุดคือ เพื่อการพัฒนาประเทศและประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์” นายธนกร กล่าว
‘วิษณุ’ ยันเอ็มโอยูฉบับ ‘ธรรมนัส’ ครม.แค่รับทราบ แปลว่ารับรู้ ไม่ใช่อนุมัติ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เดิมเรื่องนี้ตนได้รับมอบหมายให้เป็นประธานรับผิดชอบให้ดูแลเกี่ยวกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ทั้งประเทศ ต่อมาการเมืองแรง และเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง จึงได้เปลี่ยนให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดูแล โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน และมีรองกรรมการอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อเกิดเรื่องที่จะนะ จึงตั้งคณะอนุกรรมการอีกชุดหนึ่งลงไปดูในเรื่องนี้ โดยเฉพาะ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานลงไปดูเรื่องนี้ในพื้นที่
จากนั้นได้รายงานผลการศึกษา และนำบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู เข้า ครม.เมื่อเดือนธันวาคม 2563 เป็นวาระรับทราบ โดยคำว่า ครม.รับทราบ แปลว่ารับรู้เท่านั้น ไม่ใช่การอนุมัติและเป็นเพียงการรับทราบรายงานการศึกษา แต่ขอไม่ดูเรื่องเอ็มโอยู เพราะไม่รู้ว่ารัฐจะทำตามได้หรือไม่ เนื่องจากคณะอนุกรรมการที่ไปเจรจา ยังต้องพูดคุยอีกเยอะ จึงให้ไปเจรจาให้จบก่อน แล้วค่อยนำเข้า ครม. ไม่ใช่เอาเอ็มโอยูมาปิดปาก ครม.
“เขาเอาเรื่องเอ็มโอยู เข้ามาด้วย แต่ครม.ไม่ได้เห็นชอบ และไม่มีประโยคที่บอกว่าเห็นชอบ หรืออนุมัติตามเอ็มโอยูนั้น แค่รับทราบว่ามีการทำเอ็มโอยู แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะยังต้องเจรจากันต่อ ครม.จึงให้ไปทำต่อให้จบเพราะเห็นว่าถ้านำเอ็มโอยูเข้ามา และครม.พิจารณาแสดงว่าเรื่องจบแล้ว เพราะตอนที่เขานำเข้ามาตั้งใจว่าจะให้จบ แต่ครม.บอกว่ายังไม่จบ ถ้าจะให้จบ ต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการ สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก่อนจะมาถึงครม. แต่หน่วยงานที่กล่าวมายังไม่ได้ดูเลย ฉะนั้นยังไม่ไปยุ่งกับเอ็มโออยู่ แต่ยอมรับว่ามีการทำเอ็มโอยู" นายวิษณุ กล่าว