รายงานฉบับใหม่จากยูนิเซฟชี้มีเด็กพิการถึง 240 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทย เด็กพิการเกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้รับเบี้ยความพิการ และร้อยละ 38 ไม่ได้เข้าเรียน
เนื่องในวันคนพิการสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี ยูนิเซฟระบุว่าทั่วโลกมีเด็กพิการมากถึง 240 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ของเด็กทั่วโลก ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสในแทบทุกด้านของชีวิตเมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่พิการ ตัวเลขนี้มาจากรายงานวิเคราะห์ฉบับใหม่ของยูนิเซฟที่ครอบคลุมที่สุดชื่อ Seen, Counted, Included: Using data to shed light on the well-being of children with disabilities ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน จำนวนเด็กพิการล่าสุดนี้สูงกว่าตัวเลขประมาณการเดิมเนื่องจากครอบคลุมความพิการในหลายมิติมากกว่าเดิม โดยรวมความยากลำบากในการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าด้วย
“เด็กพิการถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในสังคมและได้รับโอกาสน้อยที่สุดในทุกด้านของชีวิต” นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว “พวกเขามักเผชิญกับการถูกตีตราและการเลือกปฏิบัติ และมักเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา บริการสุขภาพ และขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต นอกจากนี้ ความพิการยังมักทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย ถูกทอดทิ้ง และถูกแสวงประโยชน์ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องหมดไป เพราะไม่มีเด็กคนไหนควรถูกทิ้งไว้ข้างหลังและเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้”
ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กพิการมักมีอย่างจำกัดและจำนวนเด็กพิการก็มักจะมีการประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง ในประเทศไทยเอง ยูนิเซฟได้สนับสนุนสำนักงานสถิติแห่งชาติในการจัดทำการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2560 โดยเป็นครั้งแรกที่ใช้ชุดคำถามความพิการของเด็กอายุ 2-17 ปี (Child Functioning Module) ซึ่งพัฒนาโดยกลุ่มวอชิงตัน (Washington Group) และยูนิเซฟ เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะความพิการที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ผลสำรวจจากปี 2560 พบว่า ในประเทศไทยมีเด็กพิการเกือบ 140,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวที่ยากจน โดยเด็กพิการประมาณร้อยละ 38 ไม่ได้เข้าเรียน, ร้อยละ 27 ไม่ได้รับบริการส่งเสิรมสุขภาพ และอีกร้อยละ 4 ไม่ได้รับการตรวจรักษาเมื่อเจ็บป่วยหรือจำเป็น นอกจากนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กพิการไม่ได้จดทะเบียนคนพิการกับรัฐ และไม่ได้รับเบี้ยความพิการ
รายงานฉบับใหม่ของยูนิเซฟรวบรวมเอาข้อมูลจาก 42 ประเทศ และครอบคลุมตัวชี้วัดความเป็นอยู่ของเด็กมากกว่า 60 ประเภท ทั้งในด้านโภชนาการและสุขภาพ การเข้าถึงน้ำและสุขาภิบาล การศึกษา การได้รับปกป้องจากความรุนแรงและการถูกแสวงประโยชน์ โดยพบว่า เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่พิการแล้ว เด็กพิการมีสถิติดังนี้
ร้อยละ 24 มีแนวโน้มที่จะได้รับการกระตุ้นพัฒนาการในช่วงปฐมวัยและการดูแลน้อยกว่า
ร้อยละ 42 มีแนวโน้มที่จะมีพื้นฐานการอ่านและทักษะด้านคณิตศาสตร์ต่ำกว่า
ร้อยละ 25 มีแนวโน้มที่จะมีภาวะผอมแห้งกว่า และร้อยละ 34 มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นกว่า
ร้อยละ 53 มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันมากกว่า
ร้อยละ 49 มีแนวโน้มที่จะไม่เคยเข้าโรงเรียนมากกว่า
ร้อยละ 47 มีแนวโน้มจะออกจากโรงเรียนในระดับประถมศึกษามากกว่า ร้อยละ 33 ออกจากโรงเรียนระหว่างมัธยมศึกษาตอนต้นมากกว่า และอีกร้อยละ 27 ออกจากโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่า
ร้อยละ 51 มีแนวโน้มที่ไม่มีความสุขมากกว่า
ร้อยละ 41 มีแนวโน้มที่จะถูกเลือกปฏิบัติมากกว่า
ร้อยละ 32 มีแนวโน้มที่จะถูกลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรงมากกว่า
การศึกษาฉบับนี้ยังพบว่า ประสบการณ์ของแต่ละคนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความพิการ แหล่งที่อยู่อาศัย และบริการพื้นฐานที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้ อาทิ เด็กพิการซ้ำซ้อนมักมีอัตราการออกจากโรงเรียนสูงกว่าเด็กอื่น ๆ และความเหลื่อมล้ำยิ่งสูงขึ้นตามความรุนแรงของความพิการ ดังนั้น จึงควรออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มตามสถานการณ์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าว
ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาลมอบโอกาสที่เท่าเทียมให้แก่เด็กพิการและคนพิการทุกคนเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ พร้อมทั้งขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ตลอดจนดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษาที่ครอบคลุมและมีคุณภาพและเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ยูนิเซฟยังกระตุ้นให้รัฐบาลและภาคประชาสังคมสร้างการมีส่วนร่วมและรับฟังเสียงของเด็กและคนพิการ พร้อมตระหนักถึงความต้องการเฉพาะตัวของพวกเขาเมื่อจัดบริการด้านสุขภาพ สุขภาพจิต การศึกษา และบริการคุ้มครองเด็ก
ในประเทศไทย ยูนิเซฟทำงานร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับเด็กพิการอย่างมีคุณภาพ พร้อมผลักดันให้เด็กและคนพิการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและครอบคลุมได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งรวมถึงการได้รับเบี้ยความพิการที่พวกเขามีสิทธิ์ได้รับ
“เด็กพิการทุกคนมีความสามารถเฉพาะตัวเฉกเช่นเด็กคนอื่น ๆ ” นางคิมกล่าว “หน้าที่ของเราคือการทำให้เด็กพิการทุกคนได้รับโอกาสและการสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้พวกเขาสามารถค้นพบความสามารถเฉพาะตัวและพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อที่พวกเขาจะได้เติมเต็มความฝันและเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนสังคมอย่างมีความหมาย”