ตำรวจเตรียมกำลัง 38 กองร้อย ตั้ง 14 จุดสกัด รับมือ 3 ม็อบชุมนุมใหญ่ 7 ส.ค.64 บุกทำเนียบ-สถานที่สำคัญ-อนุสาวรีย์ ปชต. ด้าน รองผบช.น. รับการข่าวเชื่อมีความรุนแรงเกิด ส่วนแกนนำที่มีหมายจับ ย้ำพบเมื่อไร จับกุมทันที
...............................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2564 พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ฐานะโฆษก บช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก บช.น. ร่วมกันแถลงกรณีมีการนัดหมายการชุมนุมผ่านช่องทางออนไลน์ ของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ในวันที่ 7 ส.ค.2564 ตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่สำคัญดังนี้
1.กลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth นัดหมายเวลา 13.00 - 14.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคลื่อนขบวนไปพระบรมหาราชวัง และจะมีกลุ่มแนวร่วมต่างๆ มาเข้าร่วม ได้แก่ กลุ่มการ์ดวีโว่ กลุ่มแนวร่วมราษฎร ฯลฯ
2.กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยนายธนเดช หรือม่อน ศรีสงคราม นัดหมายยังไม่ทราบเวลา ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จัดกิจกรรมในลักษณะคาร์ม๊อบ 2 ล้อ เคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล
3.กลุ่มแดงก้าวหน้า 63, แดงใหม่ภาคี 4 ภาค, ราษฎรลพบุรี-สระบุรี-นครนายก และอื่นๆ รวมกันจัดกิจกรรม คาร์ม๊อบบุกกรุง จุดมุ่งหมายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ตามที่ได้มีประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง การห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 3 ส.ค.2564 ข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดฯ เว้นแต่เป็นกิจกรรมได้รับอนุญาตหรือได้รับการยกเว้น
กองบัญชาการตำรวจนครบาล ขอเตือนว่าการรวมกลุ่มกันจัดกิจกิจกรรมดังกล่าว จะเป็นการฝ่าฝืนอันเป็นความผิดตามประกาศฯ และเข้าข่ายเป็นความผิดตาม 1.พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2.พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 3.พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ 4.พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 5.พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ อีกทั้งยังมีความผิดอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง คือ มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก, การวางเพลิงเผาทรัพย์, ทำลายทรัพย์สินทางราชการ, ต่อสู้ขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่, บุกรุกในสถานที่ต่างๆ ตามพฤติการณ์ของการกระทำความผิดเป็นรายๆไป
โดยขณะนี้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ในภาพรวม ของ บช.น. ที่ผ่านมาทั้งหมดรวมทั้งสิ้น 293 คดี อยู่ระหว่างสอบสวน 97 คดี ส่งสำนวนให้อัยการหรือสอบสวนดำเนินคดีแล้ว 196 คดี ซึ่ง บช.น. ได้สั่งการให้ สน. ที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดติดตามผู้กระทำผิดที่สร้างความเดือนร้อนวุ่นวายในบ้านเมืองมาดำเนินคดีทุกราย และหากกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นที่จะต้องเข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายต่อไป
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวทางตำรวจมีการจัดเตรียมกำลังไว้ 38 กองร้อย และมีกำลังสนับสนุนเพียงพอรองรับสถานการณ์ ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย พร้อมตั้งจุดตรวจค้น 14 จุด รอบพื้นที่ชุมนุม เพื่อป้องกันเหตุร้าย และมือที่สาม ซึ่งแนวรั้งหน่วงสุดท้ายจะอยู่บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ และสะพานชมัยมรุเชฐ พร้อมกล่าวยอมรับว่า การข่าว อาจจะมีการกระทบกระทั่งอย่างรุนแรง เนื่องจาก พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มเดิมๆ ที่มักใช้วิธีการที่รุนแรง หรือใช้สิ่งเทียมอาวุธในการชุมนุมบ่อยครั้ง
ซึ่ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ประชุมซักซ้อมการปฏิบัติ เน้นย้ำการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน และประชาชน หากพบมีความพยายามบุกรุก เผาทรัพย์ หรือใช้ระเบิดเพลิง ตำรวจก็ต้องใช้มาตรการป้องกัน ไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย โดยใช้ยุทธวิธีตามหลักสากล ส่วนแกนนำที่มีคดีหรือหมายจับ ย้ำว่าหากพบเมื่อไร จับกุมดำเนินคดีทันที
ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ ดูแลงานจราจร กล่าวว่าบริเวณการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมฯ อยู่บริเวณถนนราชดาเนิน ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลัก ที่ประชาชนใช้ในการสัญจร ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน บช.น. จึงขอแจ้งข้อมูลข่าวสารด้านการจราจร เพื่อประกอบในการวางแผนการเดินทาง และขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทางตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไปจนเสร็จสิ้นการชุมนุม ดังนี้
1. เส้นทางที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมฯและควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ถ.ราชดาเนินใน, ถ.ประชาธิปไตย, ถ.ราชดาเนินกลาง, ถ.นครราชสีมา, ถ.ราชดาเนินนอก, ถ.นครสวรรค์
ถ.ตะนาว, ถ.พิษณุโลก, ถ.ดินสอ, ถ.ศรีอยุธยา, ถ.ลูกหลวง, ถ.พระราม 5, ถ.หลานหลวง, สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า (แยกหลานหลวง – แยกผ่านฟ้า)
2. เส้นทางที่แนะนาให้ประชาชนไปใช้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านการจราจร
2.1) เส้นทางทิศเหนือ ได้แก่ ถ.สุโขทัย, ถ.อานวยสงคราม, ถ.นครไชยศรี, ถ.สะพานกรุงธน (ซังฮี้), ถ.เศรษฐศิริ, ถ.สะพานพระราม 7
2.2) เส้นทางทิศตะวันออก ได้แก่ ถ.วิภาวดีรังสิต (ช่องทางหลัก), ถ.พระราม 6, โทลล์เวย์, ทางพิเศษศรีรัช, ถ.พหลโยธิน, ถ.สวรรคโลก
2.3) เส้นทางทิศใต้ ได้แก่ ถ.วิสุทธิกษัตริย์, ถ.เจริญกรุง, ถ.หลานหลวง (แยกยมราช -แยกหลานหลวง), ถ.เยาวราช, ถ.บารุงเมือง, ถ.พระราม 1, ถ.วรจักร, ถ.พระราม 4
2.4) เส้นทางทิศตะวันตก ได้แก่ ถ.จรัญสนิทวงศ์, สะพานพระราม 8, ถ.บรมราชชนนี สะพานพระพุทธยอดฟ้า, ถ.อรุณอัมรินทร์, สะพานพระปกเกล้า
จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับทราบ เพื่อเตรียมความพร้อมวางแผน การเดินทาง และขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้
ทั้งนี้ บช.น.ได้จัดเตรียมกาลังตารวจจราจรคอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หากต้องการสอบถามข้อมูลเส้นทางเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเว็บไซต์ WWW.TRAFFICPOLICE.GO.TH และสามารถดาวน์โหลดแผนที่จราจรเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางได้ที่เฟซบุ๊ก 1197สายด่วนจราจร
ภาพจาก: ไทยโพสต์
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage