เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลกซึ่งตรงกับวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี ยูนิเซฟได้แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมรักษาสุขอนามัยขณะให้นมลูกท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยน้ำนมแม่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกแข็งแรงและช่วยปกป้องลูกน้อยจากการติดเชื้อและการเจ็บป่วย
.........................................
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านน้ำนมแม่ได้ องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟจึงแนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถให้นมจากเต้าและโอบกอดแนบเนื้อได้แม้ว่าแม่จะติดเชื้อโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงสูงก็ตาม อย่างไรก็ดี แม่ควรรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด เช่น ใส่หน้ากากอนามัยขณะให้นมลูก ล้างมือด้วยสบู่ก่อนและหลังสัมผัสลูก ตลอดจนหมั่นทำความสะอาดพื้นผิวที่แม่สัมผัสบ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
การศึกษาต่าง ๆ พบว่า ประโยชน์ของนมแม่มีมากกว่าความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่ลูก อีกทั้งแอนติบอดี้ในนมแม่ยังอาจช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อหากทารกได้รับเชื้อโควิด-19
นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในการช่วยให้ทารกเติบโตอย่างแข็งแรงโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 น้ำนมแม่เปรียบเสมือนวัคซีนหยดแรกสำหรับทารก เพราะเปี่ยมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ แอนติบอดี้ ฮอร์โมน และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของทารกและป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ดี”
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กทั้งในช่วงแรกเกิดไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ การศึกษาต่าง ๆ พบว่าเด็กที่ได้กินนมแม่มักจะมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยน้อยกว่า อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะมีไอคิวสูงกว่า มีการศึกษาที่สูงกว่าและทำงานที่ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยเสริมสร้างสายใยรักและผูกพันระหว่างแม่กับลูก อีกทั้งลดความเสี่ยงของแม่ในการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่อีกด้วย
องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟได้แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกเพื่อประโยชน์สูงสุดด้านสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตรานี้ต่ำที่สุดในภูมิภาค ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยพ.ศ. 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ พบว่า มีเด็กเพียงร้อยละ 14 ที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต ซึ่งลดลงจากร้อยละ 23 ในพ.ศ. 2559
ยูนิเซฟได้เรียกร้องให้ภาครัฐบาลและเอกชนเพิ่มการลงทุนในด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตัวอย่างเช่น บุคลากรทางการแพทย์ควรสนับสนุนให้ทารกแรกเกิดได้รับนมแม่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด พร้อมให้ความรู้และคอยแนะนำให้แม่สามารถให้นมลูกได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน หน่วยงานสาธารณสุขควรปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กอย่างเคร่งครัด เช่น กำกับดูแลการตลาดออนไลน์ของนมผงที่เข้าถึงแม่โดยตรง หรือห้ามการแจกตัวอย่างนมผงภายในโรงพยาบาล
นอกจากนี้ ภาครัฐบาลและเอกชนควรออกนโยบายที่เป็นมิตรกับเด็กและครอบครัวเพื่อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องหลังจากที่ต้องกลับไปทำงาน เช่น สามารถลาคลอดได้อย่างน้อย 18 สัปดาห์โดยได้รับค่าจ้าง หรือสิทธิลาคลอดสำหรับพ่อ ในขณะเดียวกัน ที่ทำงานควรมีนโยบายที่ชัดเจนและจัดให้มีมุมนมแม่ที่สะอาดปลอดภัยเพื่อให้แม่บีบเก็บน้ำนมได้
นางคิมกล่าวต่อไปว่า “อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ค่อนข้างต่ำในประเทศไทยบอกเราว่า เด็กจำนวนมากกำลังพลาดโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุด นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ยูนิเซฟยังคงผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นมิตรกับเด็กและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์นี้กระตุ้นให้สังคมรู้ว่า แม่ยังต้องการการสนับสนุนจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดที่บริการต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักลง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะสำเร็จได้เพื่อประโยชน์ของเด็กทุกคนจำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างแท้จริงของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว นายจ้าง ระบบสาธารณสุข และรัฐบาล”