‘SDSN’ เผยอันดับดัชนีความยั่งยืนปี 64 ไทยรั้งอันดับ 43 หล่นจากปีก่อน 2 อันดับ ขณะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกกจน-ว่างงานเพิ่ม
..................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เครือข่ายทางออกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Solutions Network (SDSN) เผยแพร่รายงาน ‘Sustainable Development Report 2021’ และการจัดอันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) ประจำปี 2021 (พ.ศ.2564)
สำหรับปีนี้ ดัชนี SDGs ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 จาก 165 ประเทศ ตกลงมาจากเดิมปี 2563 อยู่ในอันดับที่ 41 จาก 166 ประเทศ และคะแนนดัชนีของปีนี้ (พ.ศ.2564) อยู่ที่ 74.2 คะแนน ต่ำกว่าปี 2020 ที่ได้ 74.5 คะแนน เพียงเล็กน้อย แต่ถือว่าสอดคล้องกับทิศทางของทั่วโลกที่มีคะแนนดัชนี SDGs ลดลงจากปีก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบอันดับกับประเทศในทวีปเอเชียพบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น (อันดับ 18) และเกาหลีใต้ (อันดับ 28) ตามลำดับ และยังคงเป็นประเทศที่มีคะแนนดัชนี SDGs สูงที่สุดในอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 3 (2562–ปัจจุบัน)
ส่วนสถานการณ์รายเป้าหมายในปีนี้ เป้าหมายที่ประเทศไทยบรรลุแล้ว (สีเขียว) คือ SDG 1 ยุติความยากจน โดยตัวชี้วัดของเป้าหมายนี้วัดจากจำนวนประชากรที่อยู่ในภายใต้เส้นความยากจนต่ำสุดที่เกณฑ์ของธนาคารโลกกำหนดไว้ที่ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 60 บาท/วัน
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามเส้นความยากจนภายในประเทศปัจจุบัน ซึ่งถือว่าผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 3,000 บาท/เดือน เป็นคนยากจนนั้น จากรายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในปี 2562 ซึ่งเป็นการรายงานสถานการณ์ล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าประเทศไทยยังมีคนยากจนอยู่ราว 6.24% ของประชากร ในปี 2019 (2562)
นอกจากนี้ ในปี 2564 พบว่ามีประเด็นเป้าหมายที่มีความท้าทายสูง (สีแดง) มี 5 เป้าหมาย ได้แก่ การขจัดความหิวโหย (SDG 2) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (SDG 3) การลดความเหลื่อมล้ำ (SDG 10) การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล (SDG 14) และการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบนบก (SDG 15) ซึ่งถดถอยลงเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีเพียง 2 เป้าหมาย คือ การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (SDG 3) และการลดความเหลื่อมล้ำ (SDG 10)
สำหรับประเทศที่อันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ อันดับ 1 ฟินแลนด์ 85.9 คะแนน อันดับ 2 สวีเดน 85.6 คะแนน อันดับ 3 เดนมาร์ก 84.9 คะแนน อันดับ 4 เยอรมนี 82.5 คะแนน และอันดับ 5 เบลเยียม 82.2 คะแนน ขณะที่คะแนนดัชนี SDGs เฉลี่ยทั่วโลกลดลงกว่าปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 เป็นไปได้ยากขึ้น
“ในปีนี้ (2021) คะแนนดัชนี SDGs เฉลี่ยกลับลดลงกว่าปีก่อนหน้าอันเป็นผลมาจากอัตราความยากจนและสถิติการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากการระบาดของโควิด–19 โดยนี่เป็นครั้งแรกที่คะแนนดัชนี SDGs ทั่วโลกลดลงกว่าคะแนนเฉลี่ยจากปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่าการระบาดของ โควิด–19 กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 (2030) เป็นไปได้ยากขึ้น” รายงาน Sustainable Development Report 2021 ระบุ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage