ป่วยใหม่ 3,481 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ 951 ราย ยอดรวมสะสมจากการระบาดระลอกใหม่ 94,203 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 32 ราย ขณะที่ศบค.แถลงพบคนงานก่อสร้างแคมป์หลักสี่ ติดโควิดพันธุ์อินเดีย 15 ราย
------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2564 เวลา 12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน โดยพบผู้ติดป่วยรายใหม่ 3,481 คน แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,518 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,644 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 874 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 951 ราย และอีก 12 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 123,066 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,868 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 42,827 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,248 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 408 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 32 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 641 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 32 ราย มาจาก กทม. 15 ราย นนทบุรี 6 ราย สมุทรสาคร 2 ราย นครปฐม พัทลุง สุรินทร์ นครราชสีมา ยะลา สมุทรปราการ ร้อยเอ็ด พังงา นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 17 ราย หญิง 15 ราย อายุระหว่าง 21-93 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง ไตเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคตับ ติดเตียง ตั้งครรภ์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มาจากคนในครอบครัว คนอื่นๆ เช่น เพื่อนร่วมงาน รพ. อาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด และมีอาชีพเสี่ยง ได้แก่ ค้าขาย เก็บขยะ บ่อตกกุ้ง
ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ 2,578 ราย เป็นผู้ติดเชื้อตามพื้นที่ปัจจัยเสี่ยง แบ่งเป็น กทม. 1,602 ราย ปริมณฑล 395 ราย และจังหวัดอื่นๆ 581 ราย
โดย 10 จังหวัดที่มีอันดับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 1,036 ราย สมุทรปราการ 457 ราย นนทบุรี 163 ราย ปทุมธานี 162 ราย ชลบุรี 127 ราย เพชรบุรี 77 ราย ระนอง 54 ราย ตาก 45 ราย สมุทรสาคร 40 ราย และสงขลา 36 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย ประกอบด้วย อียิปต์ 1 ราย และกัมพูชา 11 ราย
ขณะที่ การกระจายวัคซีนในประเทศ พบผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 78,560 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 29,580 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 2,648,256 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 1,726,431 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 921,825 ราย
@ คนงานแคมป์หลักสี่ ติดโควิดสายพันธุ์อินเดีย 15 ราย
สำหรับสถานการณ์การระบาดภายในกทม. นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีรายงาน 35 คลัสเตอร์ กระจายอยู่ใน 23 เขต โดยมีกลุ่มก้อนการระบาดที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด ได้แก่ ที่พักคนงานก่อสร้าง เขตหลักสี่ ที่พักคนงานก่อสร้าง เขตดอนเมือง ที่พักคนงานก่อสร้าง เขตคลองเตย ชุมชนแออัดรอบตลาด เขตคลองเตย ชุมชนแออัดตลาดห้วยขวาง เขตดินแดง ชุมชนตลาดพลอยบางรัก เขตบางรัก ชุมชนแออัดตลาดบางกะปิ เขตบางกะปิ
ซึ่งส่วนใหญ่เกิดการระบาดในใจกลางกรุงเทพมหานคร ได้แก่ คลองเตย ราชเทวี ปทุมวัน บางรัก ป้อมปราบฯ หลักสี่ และดินแดง รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยง อาทิ การพักอาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด การระบายอากาศไม่ดี การคลุกคลีใกล้ชิด สัมผัสใกล้ชิดในครอบครัว/ที่ทำงาน และการรับประทานอาหารร่วมกัน
นอกจากนั้นยังมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในที่พักคนงานก่อสร้าง เขตหลักสี่จำนวนมาก โดยมีคนงาน 15 ราย ตรวจพบเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์อินเดีย B.1.617.2 ขณะนี้ได้เข้าสู่ระบบการรักษาภายในโรงพยาบาล และได้ส่งทีมสอบสวนโรคเพื่อดูแลการควบคุมการป้องกันการติดเชื้อต่อไป
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. รับทราบเรื่องแล้ว และได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการ และตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านสาธารณะในศูนย์โควิด เพื่อร่วมทำงานกันทุกภาคส่วน
โดยกำหนดมาตรการ ดังนี้
1.ให้ตรวจสภาวะสุขอนามัยของแคมป์คนงาน ที่ยังไม่มีการติดเชื้อ ควบคุมไม่ให้มีการเดินทางข้ามเขตระหว่างแคมป์คนงาน
2.จัดระเบียบร้านค้า ตลาดนัดในชุมชน
3.ดูแลสุขอนามัย ของร้านอาหารและพนักงานส่งอาหาร
4.จัดระเบียบการเดินทาง ขนส่งสาธารณะทุกประเภท
5.กำกับติดตาม มาตรการ Work From Home ว่าทุกหน่วยงานได้ปฏิบัติตามอย่างจริงจังหรือไม่
@ กระจายวัคซีน 3 ช่องทาง หมอพร้อม-ออนไซต์-กลุ่มเฉพาะ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงแผนการให้บริการวัคซีนว่า จากการประกาศการกระจายวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดการฉีดวัคซีนพร้อมกัน เริ่มต้นเป็นดีเดย์ ในวันที่ 7 มิ.ย.2564 โดยจะกระจายวัคซีนผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ ระบบหมอพร้อม ลงทะเบียน ณ จุดบริการ หรือ ออนไซต์ และการกระจายวัคซีนให้กลุ่มเฉพาะ เช่น แพทย์ พยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ครู นักธุรกิจ นักศึกษา ฯลฯ
สำหรับแผนเตรียมความพร้อมเรื่องการลงทะเบียนฉีดวัคซีน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ระยะปัจจุบัน ถึง 6 มิ.ย.2564 จะเป็นการทยอยฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ตามโควต้าที่แต่ละหน่วยงานจะได้รับ
ระยะที่ 2 ตั้งแต่ 7 มิ.ย.2564 จะเริ่มการฉีดวัคซีนทั้งระบบเป็นวาระแห่งชาติ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า เจ้าหน้าที่อื่นด่านหน้า และกลุ่มอาชีพเสี่ยงติดเชื้อ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ตัวแทนนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศ นักเรียน/นักศึกษาไปศึกษาต่างประเทศ วัยทำงานผู้มีสิทธิประกันสังคม และประชาชนทั่วไป
"สำหรับการมีหลายช่องทางในการจองคิววัคซีนนั้น จะเป็นตัวช่วยให้ประชาชนสามารถลงทะเบียน เพื่อเป็นประตูข้อมูลไปสู่ระบบหมอพร้อมที่จะเป็นฐานข้อมูลในการติดตามอาการผลข้างเคียง และจะออกเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน" นพ.ทวีศิลป์
@ ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน - มีมติคุมโควิดในการประชุมรัฐสภา
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงผลการประชุม ศบค. ครั้งที่ 7 / 2564 ว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เห็นชอบให้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. - วันที่ 31 ก.ค. 2564 เพื่อประโยชน์ต่อเพื่อการควบคุมการระบาดของโควิดเป็นหลัก โดยในการจัดการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 พ.ศ. 2564 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.2564 ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ได้โดยมอบหมายให้ทาง กทม.ร่วมกับสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยงานกำกับ ติดตามในการปฎิบัติตามมาตรการสาธารณสุข ที่ กทม.ร่วมกับกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
โดยให้สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา ยกเว้นผู้ควบคุมการประชุมผ่อนผันในช่วงเวลาอภิปราย การนั่งในที่ประชุมเว้นระยะห่าง 2 เมตร ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา มีผู้ติดตามได้ 1 คน เท่านั้น ให้ตำรวจสภากำกับการใช้ลิฟท์ไม่เกินครั้งละ 6 คน จัดอาการให้สมาชิกทุกคณะ ทั้งสามัญ วิสามัญ และอนุกรรมาธิการ จนกว่าจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ให้สำนักงานที่จัด Work From Home ได้ดำเนินการ 100% ให้ปรับแผนการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัด ตามสถานการณ์โควิด ขอความร่วมมือให้ข้าราชการรัฐสภาฉีดวัคซีนทุกคน หากผู้ใดไม่ฉีดจะไม่อนุญาตให้เข้าห้องประชุม เว้นแต่มีเหตุจำเป็น
ขณะเดียวกัน ยังมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนจำนวน 2,000 โดสเพื่อให้มีการฉีดในช่วงก่อนที่จะมีการประชุม ในวันที่ 21-25 พ.ค. 2564
@ ทั่วโลกป่วย 651,684 ราย สะสม 165,84 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 651,684 ราย รวม 165,842,599 ราย อาการหนัก 99,233 ราย หายป่วย 146,520,099 ราย เสียชีวิต 3,444,656 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 30,214 ราย รวม 33,833,181 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 659 ราย รวม 602,616 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 259,269 ราย รวม 26,030,674 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4,209 ราย รวม 291,365 ราย บราซิล พบเพิ่ม 83,367 ราย รวม 15,898,558 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2,527 ราย รวม 444,391 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 91 ของโลก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/