วงเสวนานักวิชาการแนะกรมทรัพย์สินฯ ปรับระบบสืบค้นให้ง่ายขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ช่วยสอดส่องดูแลการจดสิทธิบัตร แนะควรมีกฎหมายแยกการพิจารณาสิทธิบัตรในกรณีฉุกเฉิน
........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา และเครือข่าย จัดงานเสวนาวิชากรออนไลน์ในหัวข้อ ระบบสิทธิบัตร 'เอื้อ' หรือ 'ขัดขวาง' การเข้าถึงยา: กรณียาฟาวิพิราเวีย ผ่านเพจเฟซบุ๊ก กพย. - ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา โดยมีการอภิปรายในประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความมั่นคงด้านยาในภาวะวิกฤติโควิด
รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวถึงข้อเรียกร้องไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ในกรณีเรื่องการจดสิทธิบัตรยาในช่วงสถานการณ์โควิดว่า ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาปรับปรุงฐานข้อมูลในการสืบค้นให้ง่ายและสะดวกต่อการค้นหา เพื่อประโยชน์ในการช่วยสอดส่องดูแลสำหรับนักวิชาการต่างๆ รวมถึงการให้ข้อมูล คำขอรับสิทธิบัตรของยาในช่วงสถานการณ์โควิด และสามารถปรับการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing: CL) ได้ง่ายขึ้นได้หรือไม่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ในหลายประเทศทั่วโลก ได้มีการพยายามออกกฎหมายแยกในการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรในสถานการณ์เร่งด่วนหรือฉุกเฉิน
รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวอีกว่า ส่วนข้อเรียกร้องต่อกระทรวงสาธารณสุข องค์การอาหารและยา (อย.) ควรที่จะช่วยประสานกับนักวิจัยในการขึ้นทะเบียนยาชุดสามัญใหม่ โดยใช้เวลาอันสั้น เพื่อให้ยาสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ทางด้านสถานศึกษา ข้อเรียกร้องให้ช่วยพัฒนาด้านความมั่นคงทางยาและงานวิจัยต่างๆ
ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมและอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขอให้กรณียาฟาวิพิราเวียร์ หรือยารักษาโควิด เป็นกรณีตัวอย่างในการทำงานร่วมกันระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญากับกระทรวงสาธารณสุข
ภญ.อัจฉรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของยาแต่ละชนิดนั้นผ่านการโฆษณา ซึ่งกินเวลานาน ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาควรจะช่วยเร่งในมาประกาศโฆษณาเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ และช่วยเร่งในการพิจารณาว่ายามีเงื่อนไขในการที่จะได้รับสิทธิบัตรหรือไม่ โดยหลักการพิจารณาที่สำคัญหลักๆ สองประการ คือ มีความใหม่หรือไม่ และมีขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรเร่งดำเนินการในกรณีเร่งด่วน เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์และอีกสองชนิดในสถานการณ์โควิดนี้
ด้าน ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร รองประธานมูลนิธิเภสัชชนบท กล่าวเสริมในประเด็นการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องเปิดข้อมูลให้สามารถสืบค้นได้ และในการพิจารณา ถ้าหากตัวยาดังกล่าวไม่มีขั้นตอนการผลิตสูงขึ้นหรือเป็นตัวยาชนิดใหม่ ก็ควรพิจารณาได้เร็วมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การพิจาณาจะต้องมีความจำเป็นโดยการมีกลไกเชิงสถาบันเป็นศูนย์กลางการจัดการ และสร้างเสริมกลไกให้นำนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนายาไปสู่การปฎิบัติ ตามมติ ครม.เห็นชอบเมื่อ 23 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา
ส่วน ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงแนวทางการลดความสูญเสียงบประมาณ ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ควรออกกฎหมายร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรในอนาคต การเอื้อการเข้าถึงยา และกระบวนการพิจารณาของระดับพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ควรมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนสำหรับการจัดการเรื่องเข้าถึงยา ด้านองค์การเภสัชกรรม ควรเตรียมพร้อใสำหรับหารผลิตยาในกลุ่มที่จำเป็นในการรักษาตัวอื่นๆ และ สปสช. จะต้องสื่อสารต่อสังคมถึงภาระงบประมาณและการสนับสนุนนโยบายเพื่อการเข้าถึงยาให้ประชาชนได้รับรู้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage