สธ.ตั้ง 'รพ.บุษราคัม' รพ.สนามรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองที่อิมแพค เมืองทองธานี ช่วยลดความแออัดสำหรับรักษาผู้ป่วยโควิดอาการหนัก - ครม.อนุมัติงบกลางปี 64 วงเงิน 12,576 ล้านบาท สำหรับโครงการเตรียมแก้ไขปัญหาโควิด ระลอกเดือน เม.ย. ด้าน สปสช.ตรวจเชื้อและรักษาฟรีทุกราย
....................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สธ.ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบการดำเนินการตั้งโรงพยาบาลสนามที่อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยจะให้เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลือง กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ แต่อาการไม่รุนแรงและเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว จากเดิมผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง กลุ่มที่มีอาการรุนแรง คือมีอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สธ.ได้ประเมินแล้วว่าการตั้ง รพ.สนามสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองนี้จะช่วยลดภาระของโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนใน กทม.และปริมณฑลลง เพื่อให้ส่วนของโรงพยาบาลมีพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่มีอาการหนักได้มากขึ้น ส่วนของพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยที่มีผลยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น ซึ่งใช้โรงพยาบาลสนามทั่วไปและHospitel อยู่นั้น เวลานี้มีพื้นที่เพียงพอ ยังไม่มีความจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่เพิ่ม
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่าว่า สำหรับข้อมูล รพ.สนาม ณ อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ.ได้ลงพื้นที่เพื่อวางแผนนั้น ที่นี่จะรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,200 เตียง โดยใช้พื้นที่อาคาร 1 และ 2 อาคารละ 2,000 เตียง ส่วนอาคาร 3 เตรียมพร้อมสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ภายในจะตั้งเต็นท์ความดันลบ มีเครื่องช่วยหายใจ สามารถรองรับได้ 1,200 เตียง ทั้งนี้ หลังจากนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้าไปจัดการในพื้นที่ ทั้งระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกล้องวงจรปิด ให้ได้ตามมาตรฐานและร่วมกับภาคเอกชนอื่น ๆ ติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวด้วยว่า สธ.ยังได้รายงานเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด ว่า ขณะนี้ขั้นตอนการรักษาได้เริ่มมีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการในระยะเริ่มต้นด้วย เพื่อเป็นการหยุดยั้งการอักเสบของปอด และยืนยันว่าขณะนี้ปริมาณยามีเพียงพอ จากที่ได้มีการนำเข้ามามา 2 ล้านเม็ดในช่วงปลายเดือนเม.ย. ซึ่งมีการกระจายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนแล้ว 1 ล้านเม็ด อยู่ในคลังกลาง 1 ล้านเม็ด อยู่ระหว่างการสั่งซื้ออีก 3 ล้านเม็ด จะเข้ามาในประเทศภายในเดือน พ.ค.นี้ และองค์การเภสัชกรรมยังมีแผนการผลิตยาชนิดนี้เองในประเทศด้วย
น.ส.ไตรศุลี เปิดเผยอีกว่า ครม.ได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด ระยะการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,576 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อเตรียมความพร้อมการรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ทันเวลา ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด ซึ่งมีการระบาดทั่วโลกที่ยังคงมีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับประเทศไทยได้จัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโดยมีระบบการเฝ้าระวังกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) สถานที่ที่กักตัวที่รัฐกำหนด หรือโรงพยาบาลทางเลือก พบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในสถานบันเทิง ครอบครัว สถานที่ทำงาน ชุมชน และสถานศึกษา ทำให้ประเทศยังมีความเสี่ยงสูงที่จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น มีการแพร่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ และมีบางจังหวัดเกิดการติดเชื้อใหม่ในพื้นที่ ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมตั้งรับสถานการณ์โควิด อาจมีการแพร่กระจายในพื้นที่ใหม่ เพื่อการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข สธ.จึงได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดการติดเชื้อใหม่ให้ไม่เกินศักยภาพที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ และเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรในประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม และกลุ่มเปราะบางหรือด้อยโอกาส ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา
@ เปิดศูนย์คุมโควิด กทม.-ปริมณฑล
ด้าน นพ. สุนทร สุนทรชาติ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแผนการควบคุมโรคโควิดเขตพื้นที่ กทม. ในการแถลงสถานการณ์โควิด กระทรวงสาธารณสุข ว่า ได้มีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด กทม.และปริมมณฑล โดยแบ่งเป็นระดับเขตทั้ง 50 เขต เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยมีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้บัญชาการของแต่ละศูนย์เขต มีการแบ่งการทำงานออกเป็น 5 ฝ่าย คือ ฝ่ายอำนวยการ มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล การจัดสรรบุคลากร ฝ่ายปฏิบัติการตรวจเชิงรุก เป็นหัวใจสำคัญในการตรวจหาเชื้อ มีผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ มีอัตรากำลังประมาณ 50 กว่านาย ในการบริหารจัดการโดยจากชุมชนในพื้นที่ กทม.กว่า 2 พันแห่ง มี 15 ชุมชนที่ติดเชื้อค่อนข้างมาก เช่น เขตคลองเตย เขตปทุมวัน เป็นต้น ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง โดยเร่งดำเนินการส่งผู้ติดเชื้อจากศูนย์เอราวัณ ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ โดยส่งไปยัง รพ. รพ.สนาม หรือฮอสพิเทล ตามระดับอาการ แบ่งเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ขณะที่กลุ่มเสี่ยงมีการช่วยเหลือกันในชุมชน ส่วนในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นจำนวนมากจะมีศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ เพื่อเตรียมพร้อมนำส่งโรงพยาบาลต่อ ส่วนฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ เป็นการดูแลในส่วนสังคม และฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดจำนวนมาก โดยเป็นการฉีดเฉพาะพื้นที่ไม่ใช่ฉีดทั้งเขต เช่น เขตคลองเตยมีการฉีด 2 แห่ง ทั้งห้างสรรพสินค้า และโรงเรียน ให้กับกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ เป็นการดำเนินการในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นร่วงด่วนในการควบคุมโรค นอกเหนือจากการลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อม
@ เปิด รพ.บุษราคัม สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง
นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ได้มีการประชุมและจัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม โดยใช้พื้นที่บริเวณอิมแพค ชาเลนเจอร์ สำหรับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง เบื้องต้นมีจำนวนเตียง 1,200 เตียง สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หาเตียงไม่ได้ และเป็นศูนย์ประสานงานหาเตียง ที่มี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัด สธ. เป็นผู้อำนวยการ ทั้งนี้ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าจะสนับสนุนทรัพยากร เจ้าหน้าที่ต่างๆ อีกทั้งจะมีเจ้าหน้าที่บุคลากรจาก 60 จังหวัดทั่วประเทศที่ควบคุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่งมาหมุนเวียนสลับการทำงาน
@ รพ.เก็บเงินรักษาโควิดมีความผิด
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจหาเชื้อและการรักษาโควิด ว่า หลังจากที่ สธ.ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายในภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษา เพื่อป้องกันและลดการติดเชื้อ ลดภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้ สบส.ไปนำเสนอต่อคณะกรรมการสถานพยาบาลให้เป็นกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน และให้ทุกสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและทุกสังกัด ต้องรับรักษาผู้ป่วย จากการประกาศออกมา 3 ฉบับที่ผ่านมติ ครม. เพื่อดูแลค่าใช้จ่าย ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ได้แก่ ฉบับที่ 1 ค่ายา ค่าห้อง เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วย ฉบับที่ 2 ประกาศเพิ่มเติมในรายการยาให้ครอบคลุมมากขึ้น และฉบับที่ 3 ค่ารถรับส่งผู้ป่วยจากที่บ้าน ค่าทำความสะอาดรถ ค่ารักษาพยาบาลกรณีการเจ็บป่วย หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เนื่องจากเป็นกรณีต้องได้รับการรักษาทันท่วงที
นพ.ธเรศ กล่าวว่า มีสถานพยาบาลภาคเอกชนดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้ว สปสช.จะดำเนินการไปเรียกเก็บจากกองทุนต่างๆ ในภายหลัง ซึ่งค่าใช้จ่ายจะครอบคุม ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ายา ค่าพาหนะรับส่ง ดังนั้นเมื่อมีประชาชนเข้าไปรักษาในโรงพยาบาล หน้าที่ของผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องทำ 2 เรื่องคือ การดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัย และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สปสช. หากไม่ดำเนินการจะมีโทษตามมาตรา 66 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาพบกรณีสถานพยาบาลที่ฝ่าฝืนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลกับผู้ป่วย จำนวน 44 เรื่องใน 74 ราย เนื่องจากบางครอบครัวเข้าไปรักษาหลายราย ทั้งนี้ สถานพยาบาลได้คืนเงินผู้ป่วยครบทุกรายแล้ว และยังมีเรื่องคงค้างใน เดือน เม.ย.อยู่จำนวนหนึ่ง จะมีการสอบสวนต่อไป หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 และ สายด่วน สบส. 1426
@ ทุกคนได้รับสิทธิตรวจหาเชื้อและรักษาฟรี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. มีหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนให้ครบคลุม ตามอัตราที่มีการตกลงกับสถานพยาบาลทุกสังกัด และผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ทั้งนี้ สปสช.ได้เตรียมงบประมาณไว้หมดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากประชาชน พร้อมทั้งยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิได้รับการตรวจคัดกรองฟรีในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ทั้งในผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ และผู้ที่มีความเสี่ยง เข้าไปในสถานที่เสี่ยง หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อ ไปจนถึงการตรวจตามดุลยพินิจของแพทย์ และหากติดเชื้อก็จะต้องรักษาฟรีในโรงพยาบาลทุกสังกัด
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สปสช. มีการปรับระบบจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลเอกชนให้เร็วขึ้น โดยตัดรอบบิลทุก 2 สัปดาห์ และรอบล่าสุดจะจ่ายในวันที่ 7 พ.ค. โดยที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงบางราย มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1 ล้านบาท ขณะที่บางรายอาการไม่รุนแรง ก็เฉลี่ยรายละ 1 แสนบาท ทั้งนี้ขอให้เข้าใจระบบการรักษาอาจไม่สะดวกสบายเหมือนกับโรคอื่นตามปกติ ที่สามารถมีตัวเลือกเพิ่มเติม หรือบริการเสริม เช่น ห้องพิเศษ ห้องพักเดี่ยว ห้องที่ญาติเข้าเยี่ยมได้ ส่วนกรณีสำหรับโควิดอาจทำไม่ได้ เพราะญาติที่มาเฝ้า อาจมีการติดเชื้อ และผู้ป่วยบางรายต้องอยู่ในห้องความดันลบเท่านั้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage