สธ.เผยเตียงไอซียูเริ่มตึง ใช้ไปแล้ว 70% เร่งพัฒนาประสิทธิภาพหอผู้ป่วยเทียบเท่าไอซียู เพื่อรองรับ ยันยังบริหารจัดการได้ ส่วนรพ.สนาม-ฮอสพิเทลยังเพียงพอ พร้อมเผยปมสาววัย 23 เสียชีวิตเบื้องต้น ไม่เกี่ยววัคซีน หลังพบมีอาการ หลังกินอาหารเสริม 30 นาที
……………………………………………………..
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2564 นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาข้อมูลจากระบบสายด่วน 1668, 1669 และ 1330 มีรายชื่อผู้ป่วยในฐานข้อมูลรวม 2,800 ราย เจ้าหน้าที่ได้โทรกลับไปทุกรายแล้ว พบว่า สายด่วน 1668 โทร 880 ราย ต้องรอเตียง 121 ราย สายด่วน 1330 โทร 630 ราย เหลือผู้ที่รอเตียงอยู่ 333 ราย
“บางส่วนได้รับเตียงแล้ว หรืออาจจะรักษาจนกลับบ้านแล้ว แต่ยังมีข้อมูลอยู่ในระบบอยู่ ซึ่งช่วงวันเสาร์วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้แก้ปัญหาตรงนี้ไปเกือบหมดแล้ว ทำให้ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยค้างอยู่เฉพาะรายใหม่เท่านั้น” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
ส่วนการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิดนั้น นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า จากข้อมูลจำนวนเตียงทั้งหมดของประเทศผ่านระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ ที่กระทรวงสาธารณสุขรวบรวมและรายงานในทุกวัน พบว่า เขตสุขภาพที่ 1-13 มีจำนวนเตียงทั้งหมด 44,560 เตียง มีการครองเตียง 21,695 เตียง มีเตียงว่าง 22,865 เตียง โดยจํานวนเฉพาะเขตสุขภาพที่ 13 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีเตียงทั้งหมด 12,679 เตียง มีการครองเตียง 7,959 เตียง และยังเหลือว่าง 4,720 เตียง
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า สถานการณ์เตียงของประเทศ พบว่า 1. ห้องความดันลบ (AIIR-ICU) มี 535 เตียง ครองเตียง 378 เตียง เหลือว่างอีก 157 เตียง และ 2. ห้องผู้ป่วยหนัก (Modified AIIR) มี 1,009 เตียง ครองเตียง 745 เตียง ยังว่าง 264 เตียง
“เฉพาะ 2 ส่วนนี้ มีการครองเตียงประมาณ ร้อยละ 70 ถือว่าอยู่ในจุดที่ตึง ไม่มีช่องว่างเหลือสำหรับผู้ป่วยรายใหม่ เว้นแต่การบริหารจัดการที่ดี ดังนั้นจำเป็นต้องสำรองเตียงให้กับผู้ป่วยในห้องไอซียู และทยอยนำผู้ป่วยที่อาการดีขึ้น ออกมาอยู่ในหอผู้ป่วยสามัญมากขึ้น เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับผู้ป่วยจำเป็น” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลายแห่งในขณะนี้ ได้เพิ่มประสิทธิภาพไอซียู ด้วยการปรับหอผู้ป่วยภายในให้คล้ายกับห้องไปซียูได้ไปบ้างแล้ว แต่ยังจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น ส่วนแนวทางการคัดกรองผู้ป่วยในการบริหารจัดการเตียงนั้น ขณะนี้สถานการณ์ยังตึง ดังนั้นแพทย์จะเป็นผู้พิจารณานำผู้ป่วยเข้าไปรักษาตามความจำเป็น
ขณะที่ 3. หอผู้ป่วยหนัก มีทั้งหมด 248 เตียง ครองเตียง 139 เตียง และยังว่างอีก 109 เตียง 4. ห้อง AIIR+Modified AIIR มี 752 เตียง ครองเตียง 269 เตียง ยังว่าง 483 เตียง 5.ฮอสพิเทล มี 7,642 เตียง ครองเตียง 3,934 ราย ยังว่าง 3,708 เตียง และ 6. โรงพยาบาลสนาม มี 9,983 เตียง ครองเตียง 1,666 เตียง ยังว่าง 8,317 เตียง ดังนั้น เตียงยังเพียงพอ
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวถึงสถานการณ์เตียงในกทม. และปริมณฑลว่า เมื่อดูจากข้อมูลจำนวนเตียง จะมีเตียงรวม 19,589 เตียง ยังเหลือว่าง 7,089 เตียง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเตียงจากภาคเอกชนมากที่สุดถึง 13,718 เตียง ซึ่งยังเหลือว่างอยู่ 5,412 เตียง แต่ที่ยังเข้าไม่ได้ เนื่องจากจะต้องมีการทยอยนำผู้ป่วยเข้าอย่างปลอดภัย และจะต้องมีการประเมินตามอาการ เพื่อรองรับผู้ป่วยในฮอสพิเทลที่มีอาการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลทันที ซึ่งมีเครือข่ายส่งต่อไปยังโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนได้
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประชาชนที่อยากย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง ขอชี้แจงว่าโควิดในกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย สามารถหายได้ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลสนาม แต่หากมีความจำเป็น จะต้องส่งไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีอุปกรณ์และแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ดังนั้น การบริหารจัดการ จึงแบ่ง กทม. ออกเป็น 6 โซน ตามพื้นที่ติดต่อกัน และให้โรงพยาบาลหัวหน้าโซน ดูแลโรงพยาบาลเล็กๆ รวมถึงการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบทางไกล และเดินทางไปเยี่ยมได้ด้วย แบ่งเป็น 1. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หรือโรงพยาบาลราชวิถี 2. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 3.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ หรือโรงพยาบาลภูมิพล 4.โรงพยาบาลรามาธิบดี 5. โรงพยาบาลศิริราช และ 6.โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และยังมีเครือข่ายจากโรงพยาบาลเอกชนด้วย ซึ่งจะดูแลในเครือข่ายเดียวกัน หากจำเป็นต้องดูแลข้ามโซน จะต้องประสานไปยังศูนย์บริหารจัดการเตียง โรงพยาบาลราชวิถี
@ แจงปมหญิงวัย 23 ปี เสียชีวิตเบื้องต้น ไม่เกี่ยววัคซีน
นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีหญิงสาววัย 23 ปีเสียชีวิต ที่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสมุทรสาคร และมีที่อยู่บ้านอยู่ใน จ.ปทุมธานี ภายหลังฉีดวัคซีนโควิด เพียง 2 วันว่า จากผลสอบสวนข้อมูลเบื้องต้น ทางคณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการเสียชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์วัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นร่วมด้วยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
โดยจากข้อมูลประวัติผู้เสียชีวิต พบว่าเข้ารับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา หลังฉีดไม่มีอาการ และในวันรุ่งขึ้นได้ทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต่อมาเกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ก่อนจะเสียชีวิตในวันถัดมา
"การเสียชีวิต หากเป็นอาการที่สัมพันธ์กับวัคซีนจะต้องใช้เวลานานมากกว่า 4 วัน แต่อาการของผู้เสียชีวิตที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน 1 วัน ขณะเดียวกันยังพบว่าเกิดขึ้นหลังจากทานอาหารเสริม 30 นาที และแสดงอาการเกี่ยวข้องกับระบบประสาท คือ มีอาการปวดศีรษะรุนแรง และแสดงท่าทางแปลกๆ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจึงพิจารณาเบื้องต้นว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่อย่างไรก็ตามจะชันสูตรเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจ เมื่อได้ผลจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง" นพ.ทวีศัพท์ กล่าว
@ โต้ข่าวลือเจรจาซื้อวัคซีน ไม่เคยปฏิเสธไฟเซอร์ ยันเจรจาต่อเนื่อง ก่อนจองซื้อให้กลุ่มเยาวชน
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน กล่าวชี้แจงข่าวลือในสื่อโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการเจรจาขอซื้อวัคซีนนั้น ไม่เป็นความจริง โดยได้สอบถามข้อเท็จจริงไปยังบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทยแล้ว พบว่าตรงกับข้อมูลของสถาบันวัคซีน คือ 1. กรณีระบุว่า บริษัท ไฟเซอร์ เคยเสนอขายวัคซีนให้ไทย 13 ล้านโดส ไม่เป็นความจริง ตัวเลข 13 ล้านโดส เป็นเพียงตัวเลขที่ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย ใช้ในการนำเสนอบริษัทแม่ เพื่อเตรียมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่จำนวนที่เสนอขายให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าว เกิดจากการประมาณการของบริษัท โดยอ้างอิงจำนวนจากแผนการจัดหาวัคซีน โควิด เดิมในปี 2563 ที่เคยตั้งไว้ว่าจะจัดซื้อวัคซีนแบบทวิภาคีคิดเป็น 10% ของจำนวนประชากรหรือประมาณ 6.5 ล้านคน ฉีดคนละ 2 โดส จึงรวมได้ประมาณ 13 ล้านโดส
2. กรณีระบุว่า การซื้อวัคซีนจาก บริษัท ไฟเซอร์ ไม่ต้องใช้เงินซื้อก่อนจ่าย มีวัคซีนให้ใช้ก่อน ค่อยจ่ายทีหลังนั้น ไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน การจัดซื้อวัคซีนของ บริษัท ไฟเซอร์ ต้องมีการจ่ายเงินจองตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาและไม่มีข้อเสนอในการจัดส่งวัคซีนให้ใช้ก่อนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับการส่งต่อข้อมูลทางโซเชียลมีเดียน่าจะตั้งข้อสงสัยแล้วว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะมีบริษัทไหนให้ใช้วัคซีนก่อน โดยไม่ต้องเสียเงิน ท่ามกลางสถานการณ์การแย่งชิงวัคซีนทั่วโลก
และ 3.กรณีระบุว่า ไฟเซอร์เสนอขายวัคซีนให้กับรัฐบาลถึง 4 รอบ แต่ถูกปฏิเสธนั้น ไม่เป็นความจริงด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมา บริษัท ไฟเซอร์ ได้เข้ามานำเสนอข้อมูลผลการวิจัยในระยะต่างๆ รวมถึงผลการใช้จริงในต่างประเทศให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรคเป็นระยะ ไม่เคยมีการปฏิเสธการเข้าพบ ซึ่งเดิมวัคซีนของ บริษัท ไฟเซอร์ ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส และเก็บใน 2-8 องศาเซลเซียส ได้เพียง 5 วัน ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกกับประเทศไทยในการจัดเก็บและขนส่ง เนื่องจากมีสถานที่จัดเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส จำนวนน้อย การจะนำวัคซีนมาใช้ในวงกว้างเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ต่อมามีผลการศึกษาเพิ่มเติมของบริษัทแสดงให้เห็นว่าการจัดเก็บและการขนส่งวัคซีนทำได้สะดวกขึ้น และมีข้อมูลสนับสนุนว่าวัคซีนสามารถใช้ได้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป รวมทั้งเงื่อนไขที่บริษัทสามารถส่งวัคซีนให้ใช้ได้ภายในปี 2564 จึงได้มีการเจรจา เพื่อจองซื้อวัคซีนจาก บริษัท ไฟเซอร์ โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมประชากรในกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา
"การจองซื้อวัคซีนไฟเซอร์ของประเทศไทย เพื่อนำมาใช้ปิดช่องว่างฉีดให้กับเด็กกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีแนวโน้มระบาดเป็นกลุ่ม จากการทำกิจกรรมร่วมกันภายในโรงเรียน วัคซีนนี้เป็นตัวเดียวที่มีผลการศึกษาในกลุ่มอายุดังกล่าว ขณะที่ตัวอื่นมีข้อจำกัดให้ใช้ในอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นประโยชน์ต่อประเทศ จึงได้มีการเจรจาจองซื้อ และหากได้จำนวนมาก จะฉีดให้กลุ่มประชากรอื่นด้วย" นพ.นครกล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/