ปปง.สั่งยึดอายัดทรัพย์ บมจ.พีบี.สมาร์ทฟาร์เมอร์ กับพวก 108 รายการ 422.7 ล้าน ระบุพฤติกรรม ชักชวนคนร่วมลงทุนผ่านทางสื่อออนไลน์ ให้ซื้อหุ้น อ้างผลิตเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแม่เหล็ก ผลตอบแทน 475 เปอร์เซ็นต์ เคยถูก ก.ล.ต ร้องทุกข์กล่าวโทษด้วย
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2564 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่ง คณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.55/2564 เรื่องยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดไว้ชั่วคราว ราย บริษัท พีบี.สมาร์ทฟาร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก รวม 108 รายการ รวมราคาประเมินทั้งสิ้น 422,746,607.72 บาท จำแนกเป็น
ทรัพย์สินที่มีคำสั่งให้ยึดไว้ชั่วคราวทั้งสิ้น 77 รายการ (รายการที่ 1-77 ) อาทิ ที่ดินตามโฉนดที่ดิน 19 แปลง ห้องชุด 3 ห้อง รถยนต์ รถบรรทุกพ่วง ซากรถโดยสารประจำทาง อาวุธปืน รูปปั้นท้าวเวสสุวรรณ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องดนตรี รวมราคาประเมิน 70,685,495 บาท
ทรัพย์สินที่มีคำสั่งให้อายัดไว้ชั่วคราว จำนวน 31 รายการ (รายการที่ 78-108) เป็นเงินฝากในบัญชีเงินฝาก รวม 352,061,112.72 บาท
ผู้ครอบครอง ได้แก่ บริษัท พีบี.สมาร์ทฟาร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) นายวิชาญ เมฆพายัพ ,จ่าสิบตำรวจวิจารณ์ เมฆพายัพ หรือ นายวิชาญ เมฆพายัพ ,นายธีรวรา เมฆพายัพ ,นางธนวรรณ ทองคำโต๊ะ,น.ส.ศุภวรรณ ประเสริฐผล,นายธนาวุฒิ ประเสริฐผล, บริษัท ไทยกลูออนแมนเนจเมนท์ จำกัด,น.ส.บัวบุศรา อัครศรุติพงศ์ ,น.ส.หยกสุริยะ อัครศรุติพงศ์, นายพลวรุตม์ ธนัตย์นนท์ณัท ,นายกวิณกรณ์ จันอรุณวัณกิจ ,นายสถาพร พุกบุญมี ,บริษัท สมิทธ์พาวเวอร์ จำกัด ,นายชยวัฒน์ สุมังสะ ,นางบุญริ้ว สุรินทร์ และ นางรุ่งสุรีย์ อินต๊ะพรหม (ดูตาราง)
สำนักข่าวอิศรารายงานว่าคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมให้ยึดและอายัดทรัพย์สินระบุที่มาของเรื่องนี้ มาว่า ด้วยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับหนังสือร้องเรียน จากคณะบุคคลจิตอาสาปราบปรามแชร์ลูกโซ่และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 10 ภาค ตามหนังสือ ที่ คปภ.ฝป. 005/2563 ลงวันที่ 16 เมษายน 2563 ขอให้ตรวจสอบบริษัท พีบี.สมาร์ทฟาร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ได้รับบัตรสนเทห์ (ปิดนามผู้ส่งข้อมูล) เลขที่รับสำนักงาน ปปง. ที่ 17038 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2563 และหนังสือรายงานจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ตามหนังสือที่ ตช 0026.94/300 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 และหนังสือที่ ตช 0026.94/326 ลงวันที่ 14 พฤษถาคม 2563 ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กล่าวคือ
บริษัท พีบี. สมาร์ทฟาร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก ได้ร่วมกันชักชวนให้ประชาชนและผู้สนใจร่วมลงทุนผ่านทางสื่อออนไลน์ ให้ซื้อหุ้นของบริษัท ซึ่งกำลังผลิตเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแม่เหล็ก โดยให้ผลตอบแทนสัปดาห์ละ 5 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 95 สัปดาห์ รวมได้ผลตอบแทน 475 เปอร์เซ็นต์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นให้ผลตอบแทนสัปดาห์ละ 5 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 50 สัปดาห์คิดเป็น 250 เปอร์เซ็นต์) เมื่อได้ผลตอบแทนเป็นรายสัปดาห์ครบแล้วผู้ลงทุนจะได้หุ้นบริษัท 100 บาทต่อหุ้น และได้รับปันผลตามปกติของบริษัททั่วไป นอกจากนั้นยังมีรายได้ผลตอบแทนจากการขยายงาน (Binary) และผลตอบแทนการบริหารทีมอีกส่วนหนึ่ง จึงทำให้มีประชาชนและผู้เสียหายหลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) และกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้ทำการสืบสวนสอบสวนในกรณีดังกล่าว ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจ ผู้เสียหาย และสำนักงานคณะกรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ กับบริษัท พีบี.สมาร์ทฟาร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันนำเข้าระบบคอมพิวตอร์ซึ่งข้อมูลอันป็นเท็จในประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและร่วมกันไม่ยี่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนการเสนอขายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 91 มาตรา 341 มาตรา 343 วรรคแรก พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2526 มาตรา 4 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 มาตรา 4 วรรคแรก มาตรา 5 (1) ก และ (2) ก พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) แก้ไขเพิ่มติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (บับที่ 2) พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 65 และมาตรา 300 ซึ่งมีโทษตามาตรา 276 ต่อพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเป็นคดีอาญาที่ 2/2563 และคณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องในความผิดดังกล่าว อันเข้าลักษณะ เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบริษัท พีบี.สมาร์ทฟาร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการข้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม.462/2563 ลงวันที่ 8 กันยายน 2563 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายบริษัท พีบี.สมาร์ทฟาร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบริษัทดังกล่าวแล้ว ปรากฎหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า บริษัท พีบีสมาร์ทฟาร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐานปรากฎว่า บุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 108 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจาก ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารอันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ประเภทเครื่องใช้ฟ้า เครื่องดนตรีประติมากรรม และซากรถโดยสารประจำทาง อันเป็นทรัพย์สินที่ไม่ปรากฎหลักฐานในทางทะเบียน โดยเจ้าของหรือ ผู้ครอบครองสามารถโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ประเภทรถยนต์ รถบรรทุกพ่วง และอาวุธปืน อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฎหลักฐานในทางทะเบียน ในการควบคุม การเสียภาษีหรือการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว โดยผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองอาจดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้โดยง่าย และอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดิน ห้องชุด สิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฎหลักฐานในทางทะเบียน ในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองโดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครอง อาจดำเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้ หากมิได้มีการออกคำสั่งให้ยืดและอายัดทัรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สิน ดำเนินการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สิดังกล่าวตกป็นของแผ่นติน สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบริษัท พีบี.สมาร์ทฟาร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 108 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (ก้าสิบวัน) กล่าวคือ มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินจำนวน 77 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 ถึงรายการที่ 77 นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2564 และมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินจำนวน 31 รายการ ได้แก่ รายการที่ 78 ถึงรายการที่ 108 นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 25654 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2564 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฎตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคำสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอน ด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดและอายัดทรัพย์สินตามคำสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว ประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดดังกล่าวนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือ
อนึ่ง การยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดินอาจมีความผิดทางอาญาและต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 สั่ง ณ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2564