สธ.ชี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 128 ราย ในจำนวนนี้มี 28 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ-มีแนวโน้มเสียชีวิต เจรจาสั่งยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มอีก 2 ล้านเม็ด พร้อมคาดยอดผู้ป่วยโควิดอาจชะลอตัวลงอีก 1-2 สัปดาห์ หลังปิดสถานบันเทิง-จัดให้มี Work from home และร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดภายในประเทศว่า มีการระบาดไปทั่วทั้ง 77 จังหวัดแล้ว โดยวันนี้ยังมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมพบว่ามีผู้ป่วยอาการหนัก 128 ราย ในจำนวนนี้มี 28 ราย ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งมีอาการรุนแรงและมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ กรมการแพทย์อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลการติดเชื้อรอบใหม่จากสายพันธุ์อังกฤษว่าทำให้ปอดอักเสบรุนแรงเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน
อย่างไรก็ตามวันเดียวกันนี้เป็นวันแรกที่จะเริ่มมีการประกาศยกระดับมาตรการใหม่ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 20 ซึ่งนักระบาดวิทยาคาดว่า แนวโน้มการระบาดหลังจากนี้อีก1- 2 สัปดาห์จะเริ่มชะลอตัว จากการควบคุมสถานการณ์เสี่ยงที่ทำให้เกิดการกระจายของโรคดังกล่าว เช่น ปิดสถานบันเทิง Work from home เป็นต้น ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระยะแรก สืบเนื่องมาจากแรงเฉื่อยในการระบาดก่อนหน้า และจะชะลอลงอย่างแน่นอน แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการปฏิยัติตามมาตรการป้องกันด้วย
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การระบาดระลอกนี้ ยังมีแนวโน้มระบาดต่อเนื่องไปยังโรงเรียน หน่วยงาน องค์กร และสถานประกอบการได้ โดยล่าสุดเกิดคลัสเตอร์โรงเรียนเอกชน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากครูชาวต่างชาติ 2 ราย มีประวัติเดินทางไปยังสถานบันเทิงในภูเก็ต ก่อนจะมาสอนหนังสือและคุมสอบนักเรียน รวมทั้งเดินทางไปร่วมงานเลี้ยงอำลาครู ซึ่งมีการโอบกอดใกล้ชิดกับนักเรียน ก่อนจะทราบในภายหลังว่าติดเชื้อ ทำให้ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อรวม 32 ราย แบ่งเป็น เพื่อนชาวแอฟริกาที่พูดคุยและทานอาหารร่วมกัน เพื่อนครูชาวไทย นักเรียน และครอบครัวของนักเรียน
"อันนี้เป็นตัวอย่างว่าการติดเชื้อสามารถติดได้อย่างรวดเร็ว และสิ่งสำคัญในเคสนี้ ก็คือ เมื่อเด็กติดเชื้อ ส่วนใหญ่เราทราบว่าเด็กไม่ค่อยมีอาการ แต่ครอบครัวไทย ไม่เหมือนครอบครัวทางตะวันตก เรามักมีการอยู่ร่วมกันกับปู่ย่าตายาย และบางทีท่านก็อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราห่วงในขณะนี้คือผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงอยากให้ระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ ถ้าเป็นเด็กอย่าพึ่งใกล้ชิดกับผู้สูงอายุมากนักในช่วงนี้ เพื่อให้เกิดความระมัดระวังตัวได้มากขึ้น" นพ.โอภาส กล่าว
ดังนั้น เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด นพ.โอภาส แนะนำให้ประชาชนงดกิจกรรมรวมกลุ่ม สวมหน้ากากตลอดเวลา หมั่นล้างมือ แยกภาชนะส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ และทำความสะอาดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีคนสัมผัสจำนวนมาก เช่น ลูกบิด ก๊อกน้ำ ปุ่มกดลิฟต์ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสม่ำเสมอ
ส่วนผู้ป่วยโควิดที่อยู่ระหว่างรอเตียงผู้ป่วย ขอให้เตรียมบัตรประจำตัวประชาชน ใบรับรองผลตรวจโควิด และแจ้งเบอร์โทรของตนเองกับหน่วยงานที่รับเรื่อง เผื่อเข้ารับการรักษา งดออกจากที่พักหรือเดินทางข้ามจังหวัด งดใกล้ชิดกับครอบครัวและผู้อื่น แยกห้องน้ำ ถ้าทำได้ กรณีมีอาการไข้ของให้ทานยาพาราฯ และเช็ดตัว สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และแยกของใช้ส่วนตัว
สำหรับแผนการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส ในเดือนเม.ย.2564 นี้ จะมีการแบ่งให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า 599,800 โดส ให้ครบ 100% ภายใน 2 สัปดาห์ การควบคุมโรคระบาดในพื้นที่สีแดง 100,000 โดส ประชาชนที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีรายชื่อภายในโรงพยาบาลอยู่แล้ว 147,200 โดส เจ้าหน้าที่ที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่พบการระบาดจำนวนมากในช่วงการระบาดระลอกใหม่ เช่น นักการเมือง ตำรวจ และทหาร เป็นต้น 54,320 โดส และเก็บสำรองไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน 98,680 ราย
@ เจรจาสั่งซื้อยา'ฟาวิพิราเวียร์'เพิ่ม 2 ล้านเม็ด
นพ.โอภาส กล่าวถึงการจัดเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์ว่า ขณะนี้ไทยมียาแล้ว 5 แสนเม็ด ซึ่งเพียงพอต่อการใช้กับผู้ป่วยโควิดที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยอัตราการใช้ตอนนี้อยู่ที่ประมาณหมื่นกว่าเม็ด อย่างไรก็ตามได้เมื่อช่วงเช้า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้ทางองค์การเภสัชกรรม จัดหามาเพิ่มอีก 1 ล้านเม็ด ซึ่งขณะนี้คาดว่า ทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว และคาดว่า อาจจะขอซื้อเพิ่มเติมได้อีก 1 ล้านเม็ด ที่จะส่งมอบในปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม
@ 'หมอศุภกิจ'โชว์ผลตรวจยืนยัน วัคซีนซิโนแวคกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวชี้แจงกรณีมีผู้ตรวจภูมิคุ้มกันวัคซีนซิโนแวคผ่านชุดตรวจแบบแรปปิดเทสที่เป็นประเด็นในโซเชียลมีเดียว่า วิธีการตรวจนั้นไม่ใช่วิธีการตรวจที่ถูกต้อง การตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันนั้น ต้องตรวจโดยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test หรือ PRNT และต้องตรวจให้ถูกตัว คือ ต้องตรวจผ่านตัว Spike Protein รวมถึงต้องตรวจในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ระดับ 3 ที่มีความปลอดภัยสูงมาก เนื่องจากเป็นการเอาเชื้อไวรัสไปตรวจ ดังนั้นต้องทำอย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจ ได้นำผลการตรวจภูมิคุ้มกันจากวัคซีนซิโนแวคของ นพ.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และตนเอง พบมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ ในระดับดี จึงเป็นข้อยืนยันว่าการฉีดวัคซีนซิโนแวคกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคโควิดแน่นอน อย่างไรก็ตาม แม้จะเทียบภูมิคุ้มกันต่อโควิดสายพันธุ์พันธ์ใหม่ อย่างสายพันธุ์อังกฤษ พบมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ใหม่ลดลง แต่ยังสามารถจัดการได้
ทั้งนี้ยังมีผลการวิจัยจากประเทศชิลี ยืนยันอีกว่า หากตรวจภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีนซิโนแวคไปนานกว่า 1 เดือน จะพบว่าภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นถึง 95.6% มากกว่าการตรวจภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีน 2 สัปดาห์ ที่มีระดับภูมิคุ้มกัน 47.8%
@ 'หมอพรรณพิมล'แนะฉีด 4 วัคซีนใจ รับปัญหาสุขภาพจิตช่วงโควิดระบาด
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผลสำรวจ Mental Health Check-in ว่า ประชาชนมีแนวแนวโน้มปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการระบาดระลอกใหม่ และมีความสามารถในการปรับตัว จำกัดความเครียดได้ดีขึ้นจากการระบาดระลอกก่อนหน้า และพลังใจของประชาชนส่วนมากอยู่ในระดับสูงและปานกลาง ซึ่งคงตัวจากระดับช่วงก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มที่มีพลังใจที่ดี คือ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มที่เป็นพลังใจให้กับสังคมที่ดี ได้แก่ครอบครัว และอสม.
ทั้งนี้ พญ.พรรณพิมล กล่าวแนะนำด้วยว่าวัคซีนใจ เป็นภูมิคุ้มกัน เป็นความสามารถในการปรับตัวของคน อยากให้ประชาชนทุกคน ฉีดทุกวันจำนวน 4 เข็ม คือ 1.ความรู้สึกปลอดภัย หรือการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอยู่เสมอ 2. ไม่ตระหนก หรือการรับฟังข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และลดการรับฟังข้อมูลจากบุคคลที่ไม่รู้จักหรือไม่มีประโยชน์ 3.มีความหวัง หรือการมองด้านบวก ส่งต่อเรื่องราวดีๆอยู่ตลอด และ 4.ความเข้าใจ หรือการมีความเข้าใจและพร้อมดูแลผู้อื่นเสมอ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage