สธ.เผยผลการตรวจสอบจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และหน่วยงานควบคุมกำกับยาของสหภาพยุโรป (EMA) ล่าสุดยังไม่พบข้อบ่งชี้ 'แอสตร้าเซนเนก้า' ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนไทยฉีดวัคซีนแล้ว 5.8 หมื่นราย
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถานบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อบ่งชี้ภาวะลิ่มเลือดมีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าว่า ขณะนี้หน่วยงานองค์การอนามัยโลก (WHO) และ หน่วยงานควบคุมกำกับยาของสหภาพยุโรป (EMA) ให้ข้อมูลว่าจนขณะนี้ยังไม่พบข้อบ่งชี้ใดๆที่ชี้ชัดว่าการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่พบในยุโรปเกี่ยวข้องกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ดังนั้นองค์หรอนามัยโลกและหน่วยงานควบคุมกำกับยาของสหภาพยุโรปจึงยังคงแนะนำให้มีการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่อไป อย่างไรก็ตามในวันที่ 18 มี.ค.2564 EMA จะมีการประชุมวิสามัญเกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อหารือข้อสรุปและแนวทางการดำเนินงานต่อไปในอนาคต
นพ.นคร กล่าวอีกว่า จากข้อมูลข้างต้น ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าวัคซีนที่ไทยนำเข้าทั้งซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า มีความปลอดภัย โดยวัคซีนซิโนแวคจะใช้ฉีดในกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 18-60 ปี และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะฉีดในกลุ่มประชาชนทั่วไปไปจนถึงผู้สูงอายุ กล่าวคือ ประชาชนตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป
"ประเทศในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรได้ฉีดวัคให้กับประชากรกลุ่มผู้สูงอายุเป็นลำดับต้นๆ จึงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าปลอดภัย สามารถใช้กับกลุ่มผู้สูงอายุได้ ขณะเดียวกันสถานการณ์การระบาดในยุโรปดีขึ้น มีจำนวนผู้ป่วยลดลง แสดงให้เห็นว่าวัคซีนช่วยชะลอการเกิดโรคและช่วยชะลออาการป่วยรุนแรงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามสำหรับสัดส่วนประเทศที่ยังได้รับวัคซีนยังไม่สูงมากนัก อาจจะยังไม่เห็นผล” นพ.นคร กล่าว
นพ.นคร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์วัคซีนทั่วโลก ยังพบว่าวัคซีนยังขาดแคลน สำหรับประเทศไทยในช่วงแรก วัคซีนที่เราสามารถติดต่อได้ เพื่อนำมาใช้ในช่วง ก.พ.-พ.ค.2564 แบบเร่งด่วนนี้ มีเพียงวัคซีนของซิโนแวคเท่านั้นที่สามารถจัดส่งได้ ซึ่งเมื่อเกิดการระบาด วัคซีนจะเป็นมาตรการเสริม สำหรับป้องกันและควบคุมโรคนอกจากมาตรการเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุขมีอยู่เดิม ทำให้ในการระบาดกลุ่มก้อนใหญ่ที่กทม. ได้นำวัคซีนไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อเข้าไปเป็นมาตรการเสริมให้การควบคุมป้องกันโรคเข็มแข็งมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อวัคซีนมีมากขึ้น จากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะทำให้ไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนจำนวนมากได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 เป็นต้นไป
"สำหรับข้อกังวลที่ไทยฉีดวัคซีนได้ช้า เนื่องจากวัคซีนมีจำกัด ซึ่งเป็นข้อกังวลที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆที่เขาได้จองซื้อวัคซีนล่วงหน้านานมากๆหลายเดือนแล้ว และมีจำนวนของประชากรหลายเท่าตัว คงเทียบกันไม่ได้" นพ.นคร กล่าว
นพ.นคร กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้มาตรการควบคุมโรคยังคงสำคัญ และเมื่อไทยมีจำนวนวัคซีนมากเพียงพอที่จะเริ่มตั้งแต่เดิน มิ.ย.2564 เป็นต้นไป อัตราการฉีดวัคซีนของเราจะสูงขึ้นอย่างมาก จนสามารถอุ่นใจได้ และจะมีมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ได้ในระยะต่อไป
@ ฉีดแล้ว 53,842 ราย คิดเป็น 58% ของกลุ่มเป้าหมายระยะแรก
ขณะที่ นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวถึงสถานการณ์การกระจายวัคซีนของประเทศว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 16 มี.ค.2564 ฉีดวัคซีนแล้ว 53,842 ราย คิดเป็น 58% จากกลุ่มเป้าหมายระยะแรก
โดยวันนี้ฉีด 4,100 ราย แบ่งเป็น บุคลากรการแพทย์ สาธารณสุข และอสม. 461 ราย เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 281 ราย บุคคลที่มีโรคประจำตั 456 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 2,902 ราย
@ สธ.เผยหารือ 10 ประเทศอาเซียน เตรียม'พาสปอร์ตวัคซีน'แล้ว
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด ในประเทศไทย มีการแบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.สื่อสารสาธารณะ สร้างความรู้ ความเข้าใจประชาชน 2.จัดบริการที่มีคุณภาพครอบคลุมกลุ่มประชาชนเป้าหมายอย่างรวดเร็ว 3.ประกันคุณภาพวัคซีน และติดตามอาการข้างเคียง 4.พัฒนาระบบข้อมูล ช่วยการบริหารจัดการ 5.จัดการองค์ความรู้เพื่อพัฒนาบริการให้วัคซีน ซึ่งจะมีคณะทำงานด้านวัคซีนโดยเฉพาะ
ขณะเดียวกันได้มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อศึกษาวิจัยในประเด็นต่าง ๆ โดยวางกรอบการทำงานได้ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1. นโยบายหรือระบบการให้วัคซีน ตั้งแต่การเตรียมเปิดประเทศ 2. ประสิทธิผลหรือภูมิคุ้มกันภายหลังฉีดวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค แม้ว่าต่างประเทศจะมีรายงานประสิทธิผลออกมาแล้วบ้าง แต่สำหรับไทยต้องติดตามต่อว่านำมาใช้แล้วจะมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากี่เปอร์เซ็นต์ จะมีการวิจัยเพิ่มเติม 3. ดูเรื่องการบริหารแผนงาน 4. การประกันควบคุมคุณภาพ ก็จะมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับผิดชอบ 5. การสื่อสารสู่สาธารณะ และ 6. การติดตามเชื้อกลายพันธุ์
สำหรับประเด็นเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตวัคซีน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า องค์กรของกระทรวงสาธารณสุขที่มีชื่อว่า HITAP เป็นองค์กรประเมินเทคโนโลยีทางด้านสาธารณสุข จะเป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาวิจัยว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว หากจะเดินทางต่างประเทศต้องตรวจโรคอีกหรือไม่ หรือฉีดแล้วต้องเดินทางภายในกี่เดือน มีกี่ประเทศรับรอง ซึ่งขณะนี้ได้มีการร่างโครงการศึกษาวิจัยแล้ว และได้มีการหารือร่วมกับ 10 ประเทศในอาเซียนแล้ว คาดว่าในอีก 1-2 เดือน จะมีข้อมูลรายงานออกมาว่าแต่ละประเทศมีข้อกำหนดอะไรบ้าง
"สำหรับผลข้างเคียงวัคซีน ตามจริงมีคณะทำงานด้านนี้อยู่แล้ว แต่จะมีเพิ่มเติมคือคณะที่ดูเรื่องผลข้างเคียงกับระบบประสาท โดยสถาบันประสาทวิทยา ส่วนเรื่องประสิทธิผลภูมิคุ้มกันในคนไทยได้มีการร่วมมือกับโรงเรียนการแพทย์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนโรงพยาบาลศิริราชจะติดตามดูภูมิคุ้มกันในบุคลากรสาธารณสุขว่าฉีดแล้วภูมิคุ้มกันเพิ่มเท่าใด ขณะที่โรงพยาบาลรามาธิบดีและกรมการแพทย์ สถาบันมะเร็ง จะดูภูมิคุ้มกันกับผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานไม่ดี เช่น ผู้ป่วยโรคไต มะเร็ง" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ขณะที่การติดตามเชื้อกลายพันธ์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ติดตามว่าเปอร์เซ็นเชื้อกลายพันธุ์ในไทยจะเป็นไปได้มากน้อยเท่าใด
"ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เรากำลังศึกษาอยู่ โดยเบื้องต้นได้เงินทุนศึกษาวิจัยจากทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ไปแล้วประมาณเกือบ 50 ล้านบาท คาดว่าในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีข้อมูลเรื่องการติดตามภูมิคุ้มกันทยอยออกมาให้ประชาชนรับทราบว่าผลการใช้วัคซีนในคนไทยดีมากน้อยแค่ไหน" นพ.สมศักดิ์
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage