นักวิชาการชี้ทิศทางประเทศไทย หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 "ประชาชนเชื่อมั่น-กล้าใช้จ่าย" แต่เพื่อความยั่งยืน ต้องมี New Normal ด้วย เหตุแค่ลดความรุนแรงของโรค หากทำได้จะป้องกันพิษเศรษฐกิจระลอกสาม
................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จัดเสวนาในหัวข้อ“วิจัย – นโยบาย – เศรษฐกิจ” จัดการวัคซีนอย่างไรจึงได้ประโยชน์สูงสุด ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก มี นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ นักวิจัยอาวุโส โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมเสวนา
@ผช.รมต.สธ.เผยวัคซีนไม่ใช่ทุกอย่าง ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคต่อไป
โดย นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโควิด ผู้มีส่วนกำหนดนโยบายการให้วัคซีนโควิดของประเทศ กล่าวว่า นโยบายในการฉีดวัคซีนของประเทศจะเน้นความปลอดภัย ความมีประสิทธิภาพ ความรวดเร็วในการจัดซื้อวัคซีนมาให้ครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด และความเป็นธรรมโปร่งใส ไม่ใช่ว่าจะเลือกฉีดให้ใครก่อน เพราะเป็นพวกเดียวกัน โดยได้วางหลักเกณฑ์ฉีดให้บุคลากร-เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ผู้สูงวัย และผู้มีโรคประจำตัวในพื้นที่เสี่ยงก่อน
ส่วนกรณีไม่เลือกฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เป็นสาเหตุหลักของการระบาดระลอกสอง นพ.โสภณ ชี้แจงว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้คำนึงถึงประเด็นนี้เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากผลการวิจัยมีออกมาเพียงว่าวัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะสามารถป้องกันโรคได้ ดังนั้นเราจึงเล็งเห็นว่าวัคซีนล็อตแรกที่จะเข้ามานี้ควรจะให้กับกลุ่มเสี่ยงที่ของโรคที่จะแสดงอาการรุนแรงก่อน ส่วนการแจกจ่ายวัคซีนไปยังกลุ่มประชาชนชาวไทยที่อยู่ในต่างประเทศนั้น แม้ขณะนี้ยังไม่การพูดคุยกันในเรื่องดังกล่าว แต่คาดว่าจะเกิดการร่วมมือกันระหว่างประเทศ
ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายจัดซื้อวัคซีนมากว่า 60 ล้านโดส โดยจะแจกให้กับประชาชนฟรี แม้ว่าวัคซีนอาจจะยังไม่ครอบคลุมประชาชนภายในประเทศได้หมด ส่วนจะมาตรงตามกำหนดที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ไหม ก็ไม่สามารถระบุได้ เราจะแน่ใจก็ต่อเมื่อของมาถึงไทยเท่านั้น แต่เราโชคดีที่มีบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่จะช่วยให้เราผลิตวัคซีนไว้ใช้ได้เอง แต่ตนเองคาดว่าทางบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าผู้ถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิต คงมีเงื่อนไขให้เราเก็บไว้ใช้เองจำนวนหนึ่งแล้วนำบางส่วนส่งออกด้วย อย่างไรก็ตามการที่เราผลิตวัคซีนได้เองก็จะช่วยลดผลกระทบจากการไม่ให้ส่งออก อย่างสหภาพยุโรป (EU) เป็นต้น
"แม้ว่าไทยจะมีวัคซีนเป็นเกราะป้องกันแล้ว แต่วัคซีนไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง เรายังคงต้องปฏิบัติตามมาตราการป้องกันโรคกันต่อไป จนกว่าจะมั่นใจ เราถึงจะลุยได้อย่างเต็มที่ ส่วนผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่พบผู้เสียชีวิตจำนวนมากหลังได้รับวัคซีนนั้น กลุ่มผู้เสียชีวิตดังกล่าวคือผู้สูงวัยอายุ 80 ขึ้นไป ซึ่งในประเทศดังกล่าวมีโอกาสผู้สูงวัยเสียชีวิตเฉลี่ย 400 รายอยู่แล้ว ขณะเดียวกันหลาย ๆ ประเทศก็ยังใช้วัคซีนยี่ห้อดังกล่าวอยู่ จึงคาดว่าสาเหตุของการเสียชีวิตไม่น่าจะมาจากวัคซีน อย่างไรก็ตาม ทุก ๆ สิ่งทุก ๆ อย่างไม่มีอะไรที่ดีที่สุด รวมถึงขณะนี้มันเป็นช่วงเวลาที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสีย เมื่อพบข้อดีมีมากกว่าเราก็ต้องดำเนินต่อไป" นพ.โสภณ กล่าว
@เชื่อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีเค้าลางป้องกันการติดเชื้อ
ขณะที่ ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ นักวิจัยอาวุโส โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ในฐานะกรรมการที่ปรึกษาด้านการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน องค์การอนามัยโลก กล่าวถึงความคืบหน้าผลการวิจัยทดลองว่า ขณะนี้ผลการทดลองที่ออกมาจะพูดถึงประสิทธิผลในการลดความรุนแรงของโรค เนื่องจากเรื่องดังกล่าวยังเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีข้อมูลออกมามากนัก ต้องติดตามกันต่อไปว่าวัคซีนจะป้องกันได้นานขนาดไหน ป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่ รวมถึงผลข้างเคียงระยะยาวจะเป็นอย่างไร ในส่วนนี้กระทรวงสาธารณสุขคงมีการเฝ้าระวังเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ดร.นพ.ยศ กล่าวว่า ผลการวิจัยการป้องกันการติดเชื้อต้องใช้เวลานาน ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่ทุก ๆ บริษัททำเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนได้เร็วที่สุด เขาจึงผลิตออกมาให้ลดความรุนแรง ไม่ใช่ป้องกันการติดเชื้อ ขณะนี้มีเพียง 3 บริษัทที่มีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ แต่ตนได้อ่านข้อมูลดังกล่าวแล้ว พบว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า พอจะมีเค้าลางการป้องกันการติดเชื้ออยู่ หากพบผลลัพธ์ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อได้ 5% แสดงว่าว่าวัคซีนนั้นจะช่วยป้องกันโรคได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ออกมา เรายังคงต้องเฝ้ารอดูผลของการใช้วัคซีนต่อไป โดยเฉพาะข้อมูลจากประเทศอิสราเอลที่ขณะนี้ฉีดวัคซีนไปได้ถึง 40% ของประชากรทั้งประเทศแล้ว อีกไม่นานน่าจะมีข้อมูลออกมาเพิ่มเติมอีก
ส่วนการพบวัคซีนที่มีคุณสมบัติป้องโรคภายหลังนั้น ดร.นพ.ยศ กล่าวว่า ถ้าหากวัคซีนที่รัฐบาลจัดซื้อมาสามารถลดการติดเชื้อได้ ถือว่าเราโชคดี ขณะเดียวกันหากพบว่าเป็นของบริษัทอื่นที่ไทยไม่ได้ผมไม่นำเข้ามา ตนเองมองว่าว่าหากจะนำเข้าวัคซีนใหม่ ภาครัฐก็สามารถสั่งมาได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากคนไทยมีหลายกลุ่ม ย่อมมีหลากหลายความต้องการ ตนเองจึงเชื่อว่าวัคซีนตัวเดียวก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความต้องการได้ทุกกลุ่ม
"เมื่อประเทศไทยมีวัคซีนหลายชนิดแล้วนั้น แนะนำประชาชนว่าไม่ควรฉีดวัคซีนหลาย ๆ ยี่ห้อ เนื่องจากยังไม่เคยมีบุคคลใดทดลอง และยังไม่มีข้อมูลว่ากรณีด้งกล่าวจะป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่า แต่มีข้อมูลว่าหากฉีดวัคซีนจากบริษัทเดียวกัน จะเกิดมีภูมิต้านทานที่สูงกว่าคนที่เคยติดเชื้อด้วย ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปฉีดวัคซีนอีกตัว ซึ่งเดิมผลข้างเคียงจากวัคซีนเข็มแรกก็อาจมีอยู่แล้ว การไปฉีดวัคซีนจากยี่ห้ออื่นมันอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่เพิ่มขึ้นด้วย" ดร.นพ.ยศ กล่าว
ส่วนผลข้างเคียงการเสียชีวิตของผู้สูงวัยหลังการฉีดวัคซีน ที่ยังไม่ทราบผลที่แน่ชัดนั้น ดร.นพ.ยศ กล่าวว่า เชื่อว่าจะมีกรณีการพบคนไทยฉีดแล้ว เสียชีวิตด้วย แต่คาดว่าสาเหตุที่เกิดนั้นจะไม่ใช่เพราะวัคซีน แต่อาจเป็นเพราะช่วงอายุ จึงอยากขอให้ประชาชนเข้าใน อย่าพึ่งเหมารวมไปแชร์ว่าเกิดจากวัคซีน เพราะอาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
@ชี้มีวัคซีนทำให้คนเชื่อมั่นกล้าใช้-กล้าเที่ยว
ส่วน ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์โควิดในมุมมองทางเศรษฐกิจว่า การมีวัคซีนเข้ามา ทำให้ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของประชาชนกลับเข้ามาด้วย คนจะกล้าใช้ กล้าท่องเที่ยว และนโยบายของรัฐในการอัดฉีดด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ จะได้ประสิทธิผลเต็มที่ เนื่องจากในอดีตบางคนคิดว่าเมื่อตัวเองได้รับเงินมาแล้ว แต่สถานการณ์การระบาดยังไม่แน่นอน จึงไม่กล้าใช้จ่าย ทำให้ภาครัฐไม่ได้รับประสิทธิผลเต็มที่ การมีวัคซีนก็จะช่วยแก้ปัญหาในส่วนนั้นได้ ขณะเดียวกันการมีวัคซีนเข้ามานั้นมันก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่พึ่งเห็นได้ชัดในช่วงนี้ด้วย
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามเมื่อมีวัคซีนเข้ามาแล้ว เนื่องจากวัคซีนนั้นเป็นเรื่องใหม่ และยังไม่มีข้อสรุปในการป้องกันโรคได้อย่างชัดเจน และไทยเราก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมาด้วยกันแล้ว 2 ครั้ง จึงอยากขอให้ภาครัฐและประชาชนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตราการป้องกันโรคกันต่อไป ขณะเดียวกันก็อย่าพึ่งเร่งนำนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สามารถให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้ามาท่องเที่ยวภายในประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว เนื่องจากต้องมีอีกหลาย ๆ เงื่อนไขที่ต้องคำนึงถึงเพื่อความปลอดภัยอีก ดังนั้นจึงอยากขอให้รอกันอีกสักนิดเพราะยิ่งเร่ง จะยิ่งเสี่ยง
"นอกจากเราจะมีวัคซีนเป็นเกราะแล้ว แต่เราหลงลืมไปว่าเรายังมีดาบติดตัวมาอยู่ด้วย นั่นคือการปฏิบัติตามมาตราการป้องกันโรค คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือเราสามารถทำได้ก่อน และเราเคยใช้ดาบนี้ได้จนการระบาดระลอกแรกกลายเป็นศูนย์มาแล้ว จึงอยากขอให้ประชาชนใช้ทั้งดาบ ทั้งเกราะร่วมด้วย จะยิ่งให้ประสิทธิผลดี" ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้พิษโควิดทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมาก อาจจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวให้ดีเท่ากับช่วงก่อนหน้าที่ยังไม่มีโควิด 2-3 ปี แต่ทั้งนี้หากรัฐบาลใช้ความสามารถในการประคับประคองประเทศ ทำให้ประชาชนฟื้นตัวก่อน และการเตรียมตัววางตำแหน่งของประเทศในด้านสุขภาพมากขึ้น เพราะเทรนด์ในอนาคตหลังโควิด-19 เชื่อว่าทุกคนจะตระหนึกถึงสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง สิ่งเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจนี้ได้เป็นอย่างดี
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage