ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษจำคุก 410 ปี อดีตเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ อบต.หารเทา จ.พัทลุง เบียดบังเงินภาษี-ค่าธรรมเนียม 82 ครั้ง วงเงิน 93,163.26 บาท แต่ให้การรับสารภาพ-คืนเงินแล้ว ลดโทษเหลือ 205 ปี แต่คงจำคุกได้ 50 ปี
................................
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีและโฆษก สำนักงานอัยการปราบปรามการทุจริต ภาค 9 เปิดเผยถึงคดีกล่าวหา น.ส.มนัสวี หรือชุมภูนุช หรือแอน สีมังมาศ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพนักงานส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หารเทา อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ 2 มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และรายได้อื่น ๆ ออกใบเสร็จรับเงิน แต่เบียดบังเอาเงินภาษีและค่าธรรมเนียม รายได้ของท้องถิ่นเป็นของตนเองโดยทุจริต รวม 82 ครั้ง เป็นเงิน 93,163.26 บาท โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 ลงโทษ น.ส.มนัสวี เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2563 กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) รวม 82 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 410 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา 78 จำคุก 205 ปี แต่เมื่อรวมโทษความผิดทุกกระทงแล้วคงให้จำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) โดยจำเลยได้คืนเงินที่เบียดบังไปส่งคืนแก่ราชการแล้ว
นายโกศลวัฒน์ ระบุว่า คดีดังกล่าว น.ส.มนัสวี หรือชุมภูนุช หรือแอน สีมังมาศ จำเลย ขณะรับราชการ ตำแหน่งพนักงานส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลหารเทา อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ 2 มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และรายได้อื่น ๆ ออกใบเสร็จรับเงิน รวบรวมเอกสารส่งให้การเงินและนำเงินฝากธนาคาร ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 โดยจำเลยได้อาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่จัดการ ควบคุม และดูแลรักษาเงิน ได้จัดเก็บและรับเงินภาษีบำรุงที่ดิน ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน และรายได้อื่น ๆ จากผู้เสียภาษีซึ่งเป็นเงินรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลหารเทา แล้วไม่นำเงินเข้าบัญชีเงินฝากหรือส่งมอบให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลหารเทา ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 โดยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการหลายกรรมต่างกัน รวม 82 กรรม การที่จำเลยได้กระทำเป็นความผิดต่อกฎหมายและบทมาตรา ดังนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 147, 157พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 3, 13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 7
ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 พิพากษาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 410 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 205 ปี แต่เมื่อรวมโทษความผิดทุกกระทงแล้วคงให้จำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ในส่วนนี้คือเงินที่จำเลยเบียดบังไปจำเลยได้นำส่งคืนให้แก่ทางราชการแล้ว
จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ว่า พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ทั้งนี้จำเลยยังมีสิทธิ์ตามกฏหมายที่จะขออนุญาตศาลฎีกายื่นฎีกาต่อไป
“เก็บทีละร้อย ทีละพันอย่าคิดว่าจะไม่โดนจับนะครับ จึงขอฝากเป็นคดีตัวอย่าง บางคนอาจคิดว่าเงินหลักร้อยหลักพัน ไม่น่าจะทุจริต ระบบตรวจสอบเดี๋ยวนี้ทั้ง สตง. และผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะกองคลังหรือฝ่ายบัญชีทุกคนก็มีความเป็นมืออาชีพ อย่าทุจริตกันเลยนะครับ” นายโกศลวัฒน์ ระบุ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage