สธ.แจงแนวทางบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด ขอประชาชนมั่นใจไทยมีประสบการณ์เรื่องนี้กว่า 30 ปี คาด 6 เดือนแรกปี 64 คนไทยได้ใช้เข็มแรก ย้ำวัคซีนจากรัฐฉีดให้ฟรี ขายต่อไม่ได้ มีกลไกคณะกรรมการช่วยพิจารณาทุกขั้นตอน ทุกอย่างโปร่งใส ไร้ปัญหาทุจริต-วัคซีนปลอม เล็งใช้องค์การเภสัชกรรม และ รพ.สต. กระจายการช่วยเหลือให้ทั่วถึงกลุ่มเป้าหมาย
-----------------------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2563 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงชี้แจงประเด็นที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิดของไทย ว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งจัดหาวัคซีนให้กับประชาชน กระทั่งได้มีการลงนามในสัญญาเพื่อสั่งจองวัคซีนล่วงหน้า 26 ล้านโด้ส โดยคาดว่าจะมาถึงมือคนไทยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ทั้งนี้เมื่อได้รับวัคซีนแล้ว จะต้องมีการบริหารจัดการและกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขอยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ใช่ว่าไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน แต่เรามีประสบการณ์สูง ผ่านแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมากว่า 30 ปี การขนส่งผ่านระบบรักษาความเย็นเพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพจนถึงตัวผู้ป่วยเราทำได้ดีมาก และไม่เคยพบปัญหาการฉีดวัคซีนปลอมหรือใช้น้ำเกลือมาฉีดแทนแต่อย่างใด ดังนั้นขอให้มั่นใจว่า เราเตรียมการเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างดี
“ในช่วงที่ผ่านมาเรามีประสบกาณณ์จากการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ๆ มาแล้ว เช่น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 ล้านโด้สต่อปี การฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบที่เคยดำเนินการในช่วงที่มีการระบาดถึง 22 ล้านโด้ส จนทำให้โรคคอตีบไม่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศ” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนการให้วัคซีนโควิด ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้ประชุมเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนและจัดหาวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าที่จะจัดหาวัคซีนให้ได้ 50% ของประชากรไทย โดยแบ่งที่มาของการจัดการออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ 1.จากการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาออกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตราเซนเนก้า อัตรา 20% ซึ่งในส่วนนี้จะได้วัคซีน 26 ล้านโด้สครอบคลุมประชากร 13 ล้านคน ทั้งนี้ไม่ใช่การสั่งจองซื้อทั่วไป แต่ซื้อบนเงื่อนไขที่ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีมาที่ผู้ผลิตในไทยด้วย 2.การเจราจาร่วมกับ Covax ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่มีจะรวบรวมผู้ผลิตทั้งหมดเข้าด้วยกัน จากนั้นจะเชิญชวนประเทศต่างๆเข้าไปทำสัญญาจองซื้อ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่ไทยอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา โดยตั้งเป้าในส่วนนี้เพื่อจัดหาวัคซีนให้ได้อีก 20% และ 3.การติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน รวมถึงให้ทุนสนับสนุนการผลิตวัคซีนในประเทศไทย โดยคาดว่าจะจัดหาจากส่วนได้อีก 10% ทั้งนี้ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปก่อน ทั้งในแง่ของราคา ขั้นตอนการจองซื้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายจะพิจารณาต่อไป
“ที่สำคัญเราไม่ได้ทอดทิ้งการสนับสนุนผู้ผลิตหรือผู้ทดลองในประเทศ เรายังให้การสนับสนุนการวิจัยอยู่ เพียงแต่ผลอยู่ในระยะตามหลังสิ่งที่เราดำเนินการอยู่ ฉะนั้นขอเรียนให้สื่อมวลชนรับทราบว่า กระบวนการจัดหาวัคซีน เราจะต่อรองเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยเสมอ ซึ่ง รมว.สาธารณสุข จะใช้ประสบการณ์ของท่านช่วยให้เราได้สัญญาสุดท้ายที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับไทยมากที่สุดด้วย” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนหลังจากได้วัคซีน โดยเฉพาะกรณีที่ร่วมผลิตกับบริษัทแอสตราเซนเนก้า จะไม่มีการนำวัคซีนไปใช้ในเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่ปัจจัยที่เรากำหนดแน่นอน และจะมีการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอาน้ำเกลือมาฉีด หรือแอบเอาวัคซีนไปขาย เป็นต้น
“การจัดหาวัคซีนโดยภาครัฐ ใช้งบของรัฐ เราจะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายโดยไม่คิดมูลค่า แต่แน่นอนว่าระหว่างนั้นจะมีวัคซีนอีกจำนวนหนึ่งที่มาจากการจัดหาของภาคเอกชน ที่นำมาขายในตลาด เรื่องดังกล่าวจะไม่เกี่ยวกับภาครัฐ และรัฐจะกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียน ตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อทำให้วัคซีนมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ส่วนเขาจะขายราคาเท่าไร ไม่เกี่ยวกับเรา” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมการรณรงค์ให้วัคซีนในประเทศ มีทั้งหมด 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.การเตรียมวัคซีน เช่น การทำสัญญาซื้อขาย จัดทำคำของบประมาณ จัดซื้อวัคซีน เป็นต้น 2.การเตรียมสถานพยาบาลในการฉีดวัคซีนที่จะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย โดยคาดว่าจะใช้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีอยู่ 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ในการดำเนินการ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนก่อน ยังขึ้นอยู่กับการพิจารณาเหตุผลต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการเมือง ขอเรียนว่าเรามีคณะกรรมการในการพิจารณา อ้างอิงตามเหตุผลทางวิชาการ เหตุผลทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขยึดถือปฏิบัติมาอย่างยาวนาน
“มีการแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่จริง ขอเรียนว่าการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายขึ้นกับวัตถุประสงค์และเหตุผลต่างๆ เช่น สหรัฐฯเลือกที่จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเห็นว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง และต้องดูแลประชาชน หรือกลุ่มที่มีการติดเชื้อและเสียชีวิตสูง เช่น ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วแพร่กระจาย เช่น คนทำงาน และวัยรุ่น ส่วนไทยจะเลือกกลุ่มไหน เรามีคณะกรรมการร่วมกันพิจารณา คงไม่ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งไปสั่งการ และต้องมีการรับฟังความเห็นประชาชนด้วย” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนที่ 3.คือการสื่อสารกับประชาชน ให้ความรู้ก่อนให้บริการ รวมถึงตอบโต้ข่าวลือ 4.การรณรงค์ฉีดวัคซีน ที่ต้องจัดส่งไปยังหน่วยบริการต่างๆ ซึ่งในภาพรวมอาจจะเป็นองค์การเภสัชกรรมที่จะเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว ขอย้ำว่าไม่ต้องเป็นห่วงว่าใครจะเอาวัคซีนไปขาย เพราะวัคซีนไทยของภาครัฐจะให้ฟรี ใครเอาไปก็ขายต่อไม่ได้ 5.การติดตามผลการให้วัคซีน เป็นการติดตามผลการให้บริการรายสถานพยาบาล รวมถึงต้องกำหนดแนวทางให้วัคซีนเพิ่มเติมในพื้นที่เข้าถึงยากด้วย และ 6.ติดตามอาการหลังได้รับวัคซีน เราจะมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญติดตามประเมินผลอีกทางหนึ่ง ว่าอาการหลังได้รับวัคซีนแล้วเป็นอย่างไร รวมถึงประสิทธิภาพในการป้องกันควบคุมโรคสามารถดำเนินการได้หรือไม่ จะเห็นว่าในแต่ละขั้นตอนค่อนข้างละเอียด ซึ่งเรามีคณะกรรมการฯ และคณะที่ปรึกษา ประกอบด้วยบุคคลหลายภาคส่วน เพื่อให้แน่ใจว่าการฉีดวัคซีนมีความโปร่งใส ไม่ขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างครบถ้วน
“เราจะพยายามฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงตามเป้าหมาย โดยยึดหลักทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงหลักวิชาการ ทั้งนี้เป็นการฉีดวัคซีนฟรีให้กับประชาชน ไม่มีเรื่องกำไรหรือซื้อขายเกิดขึ้น วัคซีนจะกระจายโดยองค์การเภสัชกรรมและหน่วยงานต่างๆ จะช่วยกันตรวจสอบ ดังนั้นประเด็นทุจริตหรือวัคซีนปลอมคงเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการเรื่องนี้เพื่อประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด” นพ.โอภาส กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage