‘บิ๊กตู่’ โยนสภาพิจารณาตั้งกรรมการสมานฉันท์ เชิญทุกฝ่ายร่วมถกหาทางออกประเทศ ย้ำขอให้เชื่อใจกันสักครั้ง ไม่มีใครถูกครอบงำ พร้อมหนุนแก้ รธน. ไม่ขัดข้อง ส.ว.จะไม่เลือกกลับมานั่งเก้าอี้นายกฯ
---------------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สิ่งที่สรุปได้จากการประชุมสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค.2563 คือมีหลายอย่างที่เห็นด้วย ที่สำคัญคือสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) และเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่ต้องดำเนินการต่อ ทั้งนี้หลายอย่างต้องผ่านหลายกระบวนการเพราะต้องทำตาม รธน.ฉบับปัจจุบัน เนื่องจากว่ายังมีผลบังคับใช้อยู่จนกว่าจะมี รธน.ฉบับใหม่ ดังนั้นอยู่ดี ๆ จะไปตั้งกฎกติกาใหม่ทันทีให้ทำตามกรอบเวลาเท่านั้นเท่านี้เป็นไปไม่ได้ ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะเลือกหรือไม่เลือกตนเป็นนายกรัฐมนตรี ก็แล้วแต่ ตนไม่เห็นความสำคัญตรงนี้ ถ้าไม่เลือกตนก็ได้ ไม่ได้ขัดข้อง และเป็นเรื่องของการหารือในรัฐสภา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า อีกเรื่องที่เห็นด้วยคือการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาหาทางออกจากแนวทางที่มีการเสนอในรัฐสภา ตนได้หารือในที่ประชุม ครม.แล้วว่า น่าจะเป็นสภาที่เป็นผู้ตั้งคณะกรรมการโดยเชิญคนจากหลายฝ่ายมาด้วยกัน ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) , สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็ขอให้หารือกันโดยสงบจนได้ข้อยุติออกมาให้ได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทางออกมีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาใดที่เราแก้ไม่ได้ ขอให้เชื่อมั่นและมั่นใจว่าต้องช่วยกันเลือกหนทางที่ดีที่สุดให้กับประเทศ ไม่ใช่ตนคนเดียว แต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน
“ถ้าถามว่าคณะกรรมการนี้จะถูกครอบงำหรือไม่ พูดอย่างนี้ไม่ได้ ต้องให้เกียรติสภา เพราะเป็นความเห็นของผู้ทรงเกียรติที่เสนอขึ้นมา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต่างคนต่างต้องเคารพซึ่งกันและกัน ถ้าเราตั้งธงเอาไว้ ก็ไม่ชอบกันหมด ไม่เชื่อใจกันหมด ลองเชื่อใจกันสักครั้งสิ ถ้าไม่เชื่อใจเลย ก็ทำอะไรไม่ได้หมด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีมองท่าทีของภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอที่เข้ามาเคลื่อนไหวภายในประเทศอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ขอเข้าไปเกี่ยวข้อง เขามีกฎหมายของเขา ส่วนเราต้องดูว่ามีกิจกรรมใดที่มีปัญหาก็ต้องพูดคุยหารือ ต้องไม่มีนัยยะแอบแฝง ตามวัตถุระสงค์ของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันออกไป เพราะจะส่งผลเสียกับประเทศ หลายอย่างมีปัญหาของเรา เช่น เรื่องการพัฒนาประเทศ การพัฒนาโครงร้างพื้นฐาน เรื่องเหล่านี้บางทีเอ็นจีโอเขาเข้ามาขัดการพัฒนา ทำให้กระบวนการช้าลง ทั้งทำประชาพิจารณ์ ทำประชามติ บางทีขนคนอกเข้ามาในพื้นที่มาแสดงความเห็นต่อต้าน บางครั้งพบว่าคนในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์ และเขาเสียหาย ดังนั้นต้องหาทางที่เหมาะสม ฝากเอ็นจีโอที่อยู่ในประเทศไทยด้วย เมื่ออาศัยในประเทศ ทำงานในไทย เราต้องช่วยพัฒนาชาติบ้านเมือง เหมือนคนไทยไปอยู่ต่างประเทศทุกคนไปเสียภาษี ไปอยู่อาศัยที่นั่น ก็ถือเป็นพลเมืองของประเทศนั้นๆ ต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้น เรื่องเหล่านี้เป็นหลักการสำคัญของอาเซียนอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่านายกรัฐมนตรีจะอยู่ครบวาระ 4 ปี แสดงว่าไม่รับข้อเสนอของผู้ชุมนุมที่ต้องการให้ลาออกจากตำแหน่งใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “ทำไมผมต้องตอบเรื่องนี้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ผมเข้ามาด้วยอะไรกันว่ากันไป จะออกด้วยอะไรก็ว่ากันมา ไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต รัฐบาลไม่ได้หยุดแค่รัฐบาลผม แต่กระบวนการเลือกตั้ง กระบวนการตาม รธน.ก็มีอยู่แล้ว”
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage