รมว.ดิจิทัลฯโต้ข้อกล่าวปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน-ปิดสื่อ ยันจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ป้องถูกปลุกปั่นทำลายสถาบันฯด้วยความหยาบคาย สั่งดำเนินคดีแล้ว 2,000 ราย ชี้มีหลายสำนักข่าวเผยแพร่ทำร้ายจิตใจ-จาบจ้วง-ไม่เปิดพื้นที่ให้ใครเลย ยันทุกวันนี้นำเสนอได้เต็มที่แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย - ‘ดอน’อ้างทูตหลายประเทศบอกไทยมีเสรีภาพสื่อ-รับต่างชาติจับตาการเมืองไทย
....................................
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 ที่รัฐสภา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ 2563 กรณีถูกอภิปรายว่ารัฐบาลใช้กฎหมายปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่า ข้อกล่าวหาถึงการใช้กฎหมายปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น ในฐานะที่เป็นภาครัฐ มีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง คนที่ท่องโลกออนไลน์ทุกวันนี้มีความหลากหลาย แต่เนื้อหากับสิ่งที่ออกมานั้นรุนแรงมาก หากไม่ใช้กฎหมายบ้างจะเกิดการยุยงปลุกปั่นทำลายสถาบันฯด้วยความหยาบคาย
“เราดำเนินการกับคนที่มีความผิดเท่านั้น ทั้ง 300,000 กว่า URL เป็นตัวเลขที่เราติดตามได้จริง แต่เราดำเนินคดีประมาณ 2,000 ราย เป็นบุคคลที่กระทำความผิดจริง” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า กรณีการกล่าวหาว่าปิดกั้นสื่อมวลชนนั้น ยืนยันว่าหลายสื่อมีเจตนาเผยแพร่ข่าวทำร้ายจิตใจ จาบจ้วง และไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับใครเลย แบบนี้จะยอมให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ใครทำผิดต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ได้ใช้ความรู้สึกดำเนินการ แต่ใช้อำนาจผ่านกระบวนการทางศาล และนำคำสั่งของศาลมาปฏิบัติ วันนี้สื่อทุกแขนงยังนำเสนอได้อย่างเต็มที่ เพียงแต่มีการเตือนให้อยู่ในกรอบของกฎหมายเท่านั้น ต้องการทำให้สังคมการสื่อสารออนไลน์เป็นพื้นที่ปลอดภัยและสะอาด เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยรวม
@‘ดอน’อ้างทูตหลายประเทศบอกไทยมีเสรีภาพสื่อ-รับต่างชาติจับตาการเมืองไทย
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า หลายโอกาสที่ได้พูดคุยกับเอกอัครราชทูตหลายประเทศที่ประจำประเทศไทย ได้ให้ความรู้สึกกับทางกระทรวงฯว่า มาประเทศไทยแล้วรู้สึกปลอดโปร่ง รับรู้บรรยากาศถึงเสรีภาพสารพัดด้าน แต่ที่ชัด ๆ คือเรื่องของสื่อ บรรยากาศการแสดงออกความคิดเห็น เปิดให้มีการรับรู้เรื่องราวของรัฐบาล ยกตัวอย่าง การเปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกสัปดาห์ ขณะเดียวกันทำให้หวนนึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 3 ปีก่อน สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้มีการยกเรื่องประเภทนี้ขึ้นมาถกเถียงจนทำให้เกิดการจำลองเหตุการณ์ให้มีการตัดคลิปปิ้งหรือกฤตภาคข่าวรัฐบาล 1 เดือนเต็ม และพบว่า การนำเสนอข่าวของสื่อไทย มีรายการโจมตีรัฐบาลเกือบทุกวัน เรื่องเหล่านี้สะท้อนให้เขาได้เห็นชัดว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เสรีภาพไม่ได้ขาดหายไปจากวงการสื่อ
นายดอน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ถามว่ามีการชี้แจงสถานการณ์ทางการเมืองกับต่างประเทศหรือไม่ ขอยืนยันว่าที่ผ่านมาในห้วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน นานาประเทศจับตามองอยู่ และกลุ่มที่เขาจับตามองก็มีหลายกลุ่ม ที่ชัด ๆ ก็คือ สื่อต่างประเทศ , ภาคธุรกิจ , ภาคประชาสังคม , องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงสถานทูตเอง ส่วนองค์กรระหว่างประเทศ ที่ผ่านมามีการนำเสียงสะท้อนจากผู้ชำนาญการอิสระจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติ (OHCHR) มาถ่ายทอดเป็นข่าว เรื่องนี้ขอเรียนว่า เป็นเพียงความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญอิสระ ที่ OHCHR จ้างให้มาทำงานเพื่อไปตรวจ รับรู้ความเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่เมื่อทูตไทย ประจำนครเจนีวา ได้พูดคุยกับผู้อำนวยการใหญ่ OHCHR เขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่สมดุล หลังจากทูตไทยชี้แจงให้รับทราบว่ามีการปฏิบัติตามกฎระเบียบ กติกาครบถ้วน เขาก็เข้าใจ ส่วนภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะแอมเนสตี้ และ ฮิวแมนไรตส์ มีการแสดงความเห็นเป็นประจำ อะไรที่ผิดปกติจากกิจการประจำวัน ก็จะเป็นเรื่องที่เขาสามารถนำไปเขียนเป็นรายงานได้
“แต่สิ่งที่ไม่เกิดขึ้นเลย ภาครัฐแต่ละประเทศ ไม่มีแถลงการณ์ออกมา เพราะเขาถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ มีการคลี่คลายไปในทางที่อยู่ในวงกรอบที่เป็นสากล เรื่องเหล่านี้ทำให้มีการติดตามต่อ ๆ ไป โดยไม่มีการแสดงออกจากภาครัฐของแต่ละประเทศในรูปลักษณะหรือถ้อยแถลง หรือแถลงการณ์แต่อย่างใด ยกเว้น ออสเตรเลีย ที่เตือนให้คนของเขาที่จะเดินทางให้ระแวดระวังต่อเหตุการณ์ นอกจากนั้นไม่มีประเทศใดแสดงความเห็น” นายดอน กล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายพุทธิพงษ์ และนายดอน จาก https://www.naewna.com/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage