ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามชั้นต้น! สั่ง ก.คลัง เพิกถอนคำสั่งปลดออกราชการ ‘ศิโรตน์ สวัสดิ์พาณิชย์’ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ชี้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานพิสูจน์ว่า ได้รับประโยชน์จากการร่วมพิจารณาปมรับโอนหุ้นชินคอร์ปฯ ‘บรรณพจน์-คุณหญิงพจมาน’
.....................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อบ. 260/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อบ. 203/2563 ระหว่างนายศิโรตน์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ผู้ฟ้องคดี และปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดี โดยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้อง กรณี นายศิโรฒน์ ถูกคำสั่งลดโทษจากไล่ออกจากราชการ เป็นปลดออกจากราชการ กรณีร่วมกันพิจารณาว่า การรับโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ปฯ ของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จาก น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี ผู้ถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เป็นการได้รับจากการอุปการะ โดยหน้าที่ธรรมจรรยา และจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย
โดยศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ลงโทษปลดนายศิโรตน์ สวัสดิ์พาณิชย์ ออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2549 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับ โดยมีข้อสังเกตให้ปลัดกระทรวงการคลังดำเนินการคืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่นายศิโรตน์ควรได้รับ หากไม่ได้ถูกลงโทษทางวินัยตามคำสั่งดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดด้วย ทั้งนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาสิ้นสุด
ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีนายบรรณพจน์ ได้ดำเนินการรับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมาน และหรือนายทักษิณ ผ่านระบบซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อันจะเป็นการโอนหลักทรัพย์โดยอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะต้องรับผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามความเห็นของผู้ร้อง (ป.ป.ช.) หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องแยกพิจารณาภาระภาษีที่ผู้มีเงินได้พึงประเมินจะต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร
อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดในคดีนี้ที่จะพิสูจน์ได้ว่า นายศิโรตน์ ได้รับประโยชน์ที่มิควรได้จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว หรือปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้กรมสรรพากรได้รับความเสียหาย
กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า พฤติการณ์ของนายศิโรตน์เป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลผิด
การที่ปลัดกระทรวงการคลัง มีคำสั่งที่ 1214/2549 ลงวันที่ 29 ธ.ค. 2549 ลงโทษไล่นายศิโรตน์ออกจากราชการ และต่อมมีคำสั่งที่ 658/2551 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2551 ลดโทษจากไล่ออกจากราชการ เป็นปลดออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ร้อง (ป.ป.ช.) ฟังไม่ขึ้น
การที่ศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) พิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 658/2551 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2551 ในส่วนที่ลงโทษปลดนายศิโรตน์ออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปเมื่อ 29 ธ.ค. 2549 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ส่วนคำขออื่นจากนี้ขอให้ยก และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ตามมาตรา 96 วรรคหนึ่ง (8) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 โดยให้ปลัดกระทรวงการคลัง ดำเนินการคืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่นายศิโรตน์พึงได้รับ หากมิได้ถูกลงโทษทางวินัยตามคำสั่งดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน
อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม : https://drive.google.com/file/d/13raUoCmOvyDNwr8Wjy2psiyDh2L_Cth5/view
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งปลัดกระทรวงการคลังที่ 658/2551 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2551 ในส่วนที่ลงโทษปลดนายศิโรตน์ ออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปวันที่ 29 ธ.ค. 2549 ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/