ศาล รธน.ตีตกคำร้อง 2 บิ๊กสีกากี ‘พล.ต.ต.-พ.ต.อ.’ ขอให้ชี้ขาดคำสั่งหัวหน้า คสช. ปมแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ยันคำสั่งมีสถานะแค่ ‘กฎ’ ไม่ใช่ ‘บทบัญญัติแห่งกฎหมาย’ จึงไม่อาจรับคำร้องไว้วินิจฉัยได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำสั่งไม่รับคำร้องของ พล.ต.ต.ศรายุทธ พูลธัญญะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (รอง ผบช.ตชด.) และ พ.ต.อ.อนุชา จารยะพันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับการ ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 1 (รอง ผบก.ศฝร.ภ.1) เป็นผู้ร้อง มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ถูกร้อง กรณีออกประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 20/2561 เกี่ยวกับการคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2561 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส พ.ศ. 2561 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
โดย พล.ต.ต.ศรายุทธ และ พ.ต.อ.อนุชา กล่าวอ้างว่า ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพและความเสียหายจากการแต่งตั้งโยกย้ายตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าว เนื่องจากวาระการแต่งตั้งประจำปี 2561 พล.ต.ต.ศรายุทธ ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการ อาวุโสลำดับ 14 และ พ.ต.อ.อนุชา ดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการ อาวุโสลำดับ 118 แต่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้ใช้หลักอาวุโสร้อยละ 33 ส่วนที่เหลือร้อยละ 67 ไม่ได้ใช้หลักอาวุโส ทำให้วาระการแต่งตั้งประจำปี 2561 พล.ต.ต.ศรายุทธ ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ และพระราชทานยศเป็น พล.ต.ท. ส่วน พ.ต.อ.อนุชา ไม่ได้เลื่อนอาวุโสมาเป็นลำดับที่ 36 ทำให้ไม่ได้รับการเลื่อนเป็นผู้บังคับการ และพระราชทานยศเป็น พล.ต.ต. ในวาระการแต่งตั้งประจำปี 2562 ทั้งที่มีตำแหน่งผู้บังคับการว่างจำนวน 103 ตำแหน่ง
ประกอบกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าวกำหนดให้การแต่งตั้งเป็นผลมาจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นการแต่งตั้งที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ทำให้ พล.ต.ต.ศรายุทธ และ พ.ต.อ.อนุชา ไม่มีสิทธิเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นและไม่ได้รับพระราชทานยศสูงขึ้น เสียโอกาสในความก้าวหน้าทางราชการ นอกจากนี้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าว ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันระหว่างข้าราชการตำรวจจนมีการร้องทุกข์ให้การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ถึงผู้บังคับการในวาระการแต่งตั้งประจำปี 2561 เป็นโมฆะ ด้วยเหตุที่เป็นการแต่งตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 260 วรรคสาม ทั้งยังไม่ใช่การออกคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ เนื่องจากหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นหลักเกณฑ์เดิม จึงไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจและปฏิรูปองค์กรตำรวจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง.ด้านกระบวนการยุติธรรม (4)
ทั้งนี้ พล.ต.ต.ศรายุทธ และ พ.ต.อ.อนุชา ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง 2 คดี โดยคดีแรกศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า การที่คณะรัฐมนตรีออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวมิได้ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี ศาลปกครองสูงสุดไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณา ส่วนคดีที่สอง ฟ้องว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการอาศัยอำนาจโดยตรงของรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้ในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือทางตุลาการ ให้ถือว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่อาจพิจารณาเพื่อควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ได้
ต่อมา พล.ต.ต.ศรายุทธ และ พ.ต.อ.อนุชา ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งคำร้องแก่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ประเด็นดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาแล้ว จึงต้องห้ามมิให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรับไว้พิจารณา พล.ต.ต.ศรายุทธ และ พ.ต.อ.อนุชา จึงยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 20/2561 ดังกล่าวนั้น การยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 แม้ผู้ร้องทั้ง 2 รายจะยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำสั่งให้ยุติเรื่อง อันทำให้ผู้ร้องทั้ง 2 รายมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ตาม
แต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องดังกล่าวเป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าว แม้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้จะออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 มาตรา 44 และรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 265 แต่เนื้อหาของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้เป็นการรับรองการดำเนินการคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วาระการแต่งตั้งประจำปี 2559 จนถึงวันที่กฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ ตามแนวทางการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง.ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) มีผลใช้บังคับ คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าวจึงมีสถานะเป็น ‘กฎ’ มิได้มีสถานะเป็น ‘บทบัญญัติแห่งกฎหมาย’ ตามความหมายของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ดังนั้นผู้ร้องทั้ง 2 ราย ไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้ อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
อ่านรายละเอียด : http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20200807110117.pdf
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage