วงเสวนาหัวข้อหลักประกันสุขภาพคนไทยฯ 'จอน อึ๊งภากรณ์' ชี้ นับแต่รัฐมนตรีถึงชาวบ้านต้องมีมาตรฐานเดียวกัน แพทย์ พยาบาล สาธารณสุขต้องร่วมผลักดันในระดับปฐมภูมิ ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ที่ระบุถึงสิทธิสุขภาพชัดเจน ด้าน ‘นพ.สุรพงษ์’ แนะ 3 กองทุน คือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการต้องมีการจัดการที่ดี-'นพ.สมศักดิ์' ลั่น สปสช.ต้องมีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
.......................
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 17 ส.ค.2563 มีเวทีเสวนาหัวข้อ ‘หลักประกันสุขภาพคนไทย ฝันให้ไกล ไปให้ถึง’ ร่วมเสวนาโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ ตัวแทนภาคประชาชน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด (มหาชน) นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ที่ปรึกษาโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ใจความตอนหนึ่ง นายจอน อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า หลักการที่สำคัญของหลักประกันสุขภาพคือ นับแต่รัฐมนตรีถึงชาวบ้านต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ในภาคประชาชนมีการพูดเรื่องนี้กันมานานแล้ว ควรมีกองทุนประกันสังคม ประกันสุขภาพ รวมทั้งกองทุนของภาครัฐวิสาหกิจและต้องรวมกับระบบของเอกชนด้วย ต้องมีทั้งภาคส่วนที่รัฐจัดการและภาคส่วนที่เป็นเอกชนจัดการ หากนำเอาทรัพยากรเหล่านี้มารวมกันได้ทั้งหมดจะทำให้ระบบสุขภาพไทยมีพลัง
“ความหมายของผมคือโรงพยาบาลเอกชนทุกที่ ต้องเข้ามาอยู่ในหลักประกันสุขภาพของชาติที่เป็นหลักเดียวของประเทศ” นายจอนระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อคนไข้ไปอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลอาจจะเก็บค่าพิเศษ เช่น ค่าห้องพิเศษ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่าย กรณีมีคนมาเฝ้าดูแลกลางคืน สิ่งเหล่านี้ โรงพยาบาลอาจเก็บนอกเหนือจากหลักประกันสุขภาพ แต่เรื่องยา เรื่องแพทย์ คนไข้ไม่ควรต้องเสียเงิน โรงพยาบาลเอกชนก็มาจากระบบหลักประกันสุขภาพ นี่คือ สิ่งที่เราต้องการเห็น
นายจอนกล่าวว่า แพทย์และพยาบาลต้องร่วมผลักดันในระดับปฐมภูมิ รวมทั้งยกตัวอย่างในอังกฤษ ที่ในระยะไม่กี่กิโลเมตรจากที่พักอาศัย ก็จะมีสถานพยาบาลให้สามารถพบแพทย์ได้ ประเทศไทยควรต้องขยายโรงพยาบาลประจำตำบลให้เพิ่มขึ้น โรงพยาบาลเหล่านี้ควรจะทำคลอดได้ ทุกคนต้องมีแพทย์ประจำครอบครัว ในกรุงเทพฯ ควรมีโรงพยาบาลในระดับเขตใกล้เคียงโรงพยาบาลชุมชนในอำเภอต่าง ๆ
ทุกตำบล ควรมีสถานพยาบาล เช่น เพื่อสามารถทำคลอดได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เป็นสถานพยาบาลในระดับหน่วยปฐมภูมิ ที่ไม่ควรห่างจากบ้านเกิน 5 กิโลเมตร ขณะที่โรงพยาบาลไม่ควรห่างจากบ้านเกินกว่า 20 นาทีในการขับรถ
นายจอนกล่าวว่า ควรต้องให้ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของโรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลชุมชนอื่น ๆ ทั้งหลาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจเป็นเจ้าของร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ และควรมีกรรมการที่มาจากชุมชนมาช่วยเสนอแนะ ในขณะเดียวกัน ชุมชน ควรมีการสนับสนุนให้ทุนการศึกษาแก่คนในชุมชนไปเรียนแล้วกลับมาทำงานภาคบริการสาธารณสุข นี่เป็นส่วนที่ทำได้ในระดับปฐมภูมิ
นายจอนยังระบุถึงปัญหาที่ควรแก้ไขได้ด้วยระบบไอที อาทิ ปัญหาเรื่องการรอคิวยาว ควรใช้ระบบไอทีเพื่อประหยัดเวลาและการเดินทาง หรือพัฒนาแอพพลิเคชั่น ทีมีประสิทธิภาพ เช่น ใช้แอพพลิเคชั่นขอนัดพบหมอ หรืออาจมีระบบที่นัดไปตรวจที่ศูนย์สุขภาพประจำตำบลก่อน แล้วจากนั้นมีแอพพลิเคชั่นสำหรับถามอาการโดยบุคลากรสาธารณสุขในส่วนปฐมภูมิ ที่หากจัดการในระดับนี้ได้ก็อาจไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล แต่ถ้าต้องไปโรงพยาบาลก็ควรมีระบบการนัดเวลาที่ชัดเจน ควรมีแอพลิเคชั่นที่ทำแบบนั้นได้
“สิ่งที่ผมนำเสนอคือ ระบบสุขภาพเดียวสำหรับคนไทยทุกคน เพื่อช่วยกันพัฒนาไปด้วยกัน เป็นระบบสุขภาพที่มีใกล้บ้าน มีหมอที่ดูแลใกล้ชิด ผลิตบุคลากรเพียงพอ มีระบบไอทีทันสมัย สิ่งเหล่านี้ ถามว่ามีคนบอกว่า มันเป็นไปไม่ได้ ผมว่าในทางเทคนิคทำได้ แต่มันต้องการการเมือง ต้องการนโยบายสุขภาพของประเทศ ต้องการรัฐธรรมนูญไทยที่ระบุถึงสิทธิชัดเจนดังนั้น เราจะต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญใหม่ ผมจะหวังว่ารัฐธรรมนูญใหม่ จะร่างโดยประชาชน รัฐธรรมนูญไทยอาจจะบอกว่าหลักสุขภาพเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในประเทศไทยทุกคน และประเทศไทยจะต้องมีระบบสุขภาพเพียงระบบเดียวที่ครอบคลุมทั้งหมดในประเทศไทย” นายจอนระบุ และกล่าวด้วยว่า ระบบประกันสุขภาพของเราจะมีคุณภาพได้ต้องใช้งบประมาณมากกว่านี้ อาจต้องมีการเก็บภาษีพิเศษเก็บคนรวย อาทิ ให้มีการจัดเก็บภาษีเรื่องการค้าหุ้น กำไรจากหุ้น เรื่องการค้าทางการเงินต่าง ๆ
ด้าน รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า เล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 ว่า มีคนไข้รายหนึ่งเป็นภรรยาเจ้าของธุรกิจแห่งหนึ่ง สามีผู้ป่วยเคยถาม รศ.นพ.ขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ว่า มีเงิน 8 ล้านบาท แต่ภรรยาต้องทำคีโม คุณหมอคิดว่าจะทำคีโมภรรยาดีไหม มีลูกชายสองคนเรียนมัธยมอยู่ จากนั้น เมื่อ รศ.นพ.สมศักดิ์ ขึ้นเป็นนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6 คน เมื่อพบกันอีกครั้ง คนไข้รายนี้และสามีระบุว่าปิดกิจการค้าขายไปแล้ว เพื่อนำเงินทั้งหมดที่มีมารักษาภรรยา แล้วในที่สุดภรรยาก็ไม่มีเงินทำคีโม ลูกชายก็ต้องหยุดเรียน
รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เราเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกกระทั่งมีหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถช่วยลดภาระหนี้สินได้แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องบริหารให้สมดุล ที่ผ่านมาเราแทบไม่เห็นความร่วมมือของ สปสช. และมหาวิทยาลัยทั่วทุกภูมิภาค นอกจากนั้น สปสช. ยังเป็นเหมือนเจ้านายที่เข้มงวด ทำไมเราไม่ปรับระบบใหม่ ให้คิดว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกันระหว่างสถานพยาบาลและกองทุนต่างๆ สปสช.ควรมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น อาทิ ควรมีโครงการส่งยาถึงร้านยา ควรมีการจัดทำโครงการเฉพาะพื้นที่ มีงบสำหรับพัฒนาโครงการ และมีการเบิกจ่ายที่เป็นธรรมสำหรับคนไทยทุกคนและควรมีระบบการ Audit หรือการตรวจสอบบัญชีที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สิทธิการรักษาสำหรับคนไทยทุกคน สปสช.ต้องเป็นผู้ร่วมออกแบบสำหรับคนไทยทุกคน
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวว่า ฝันของตนคือฝันว่าหลักประกันสุขภาพคนไทยจะเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดีที่สุดในโลก ซึ่ง 18 ปีที่แล้ว เราทำได้ แล้วทำไมในปี 2563 เราจะตั้งความฝันที่จะเป็นประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดีที่สุดในโลกไม่ได้
นพ.สุรพงษ์ กล่าวถึงประเด็นปัญหาคือด้านคุณภาพและงบประมาณ และตั้งคำถามว่าควรรวมสามกองทุน คือ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการเข้าด้วยกันหรือไม่ นอกจากนี้ควรต้องใส่ใจประเด็นสังคมของผู้สูงอายุ โดยยกตัวอย่างว่าปัจจุบัน มีปัญหาเรื่องการตรวจสวนหัวใจที่มีการสั่งตรวจโดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องตรวจสวนหัวใจ เราจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่าการใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาและสุขภาพเป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุด กล่าวถึงการผลักดันโครงการเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ซึ่งในครั้งนั้นสำนักงบประมาณบอกว่าไม่มีเงินงบประมาณ แต่ตนเองได้ยืนยันต่อสำนักงบประมาณว่าเรื่องนี้จำเป็น
“18 ปีที่แล้ว เราปฏิรูปสำนักงบประมาณได้ การจัดงบประมาณต่อไปนี้ ต้องเป็นการลงทุนทางยุทธศาสตร์ อะไรสำคัญก็เพิ่มขึ้น อะไรไม่สำคัญก็ลดลง”
นพ.สุรพงษ์กล่าวถึงการรวม 3 กองทุน คือ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ ว่าปัญหาในกรณีนี้ ระบบประกันสังคม กลัวว่าหลักประกันสุขภาพจะมาแย่งเงินประกันสังคม แต่ตนเห็นว่าหลักประกันสุขภาพดีกว่าประกันสังคม ดังนั้น ประกันสังคมก็ต้องปรับเปลี่ยน ต้องไปทีละก้าว ทำอย่างไรให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ สปสช. ดูแลอยู่ สามารถทำได้อย่างดีที่สุด คนที่มีสิทธิ์ตามระบบสวัสดิการข้าราชการถูกหลายโรงพยาบาลเอาเงินจากหลักระบบสวัสดิการข้าราชการมาโปะในส่วนของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรื่องนี้เป็นเรื่องของการจัดการที่ต้องแก้ไข
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องประคับประคองสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และอยากให้ผู้บริหารหลักประกันสุขภาพเห็นว่าการดำเนินยุทธศาสตร์คือสิ่งสำคัญ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage