ภาคีเครือข่ายมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เสนอรายงานวิเคราะห์ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นช่วงวิกฤติโควิด-19 จากการรวบรวมข่าว น.ส.พ. 10 ฉบับ พบข่าวความรุนแรงในครอบครัว 350 ข่าว จำแนกเป็นเหตุฆ่ากัน ฆ่าตัวตาย ความรุนแรงทางเพศ การทำร้ายระหว่างเครือญาติ -ชี้กลไกรัฐ สังคม ต้องช่วยกันอย่างเป็นระบบ คนในสังคมต้องไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงในครอบครัว-วิกฤติโควิดเป็นเหมือนหินก้อนใหญ่ที่หล่นลงมาทับ ปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยให้เกิดความเครียด-ความรุนแรง วงเสวนาเผย ช่วงโควิดภรรยารายหนึ่งถูกสามีทำร้ายหนักกว่าเดิม ไม่มีเงิน ต้องเอาข้าวบูดไปล้างน้ำ ต้มใส่เกลือให้ลูกกิน
............................................
วันที่ 10 ส.ค.2563 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.) จัดเสวนา หัวข้อ “แม่ ภาระที่แบกรับและถูกทำร้าย” ภายในงานมีการนำเสนอรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงที่ผู้เป็นแม่ถูกกระทำ โดยจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่ายมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นำเสนอรายงานการวิเคราะห์ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 จากการรวบรวมข่าวหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ ประกอบด้วย ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด คมชัดลึก มติชน แนวหน้า ไทยโพสต์ สยามรัฐ กรุงเทพธุรกิจ ผู้จัดการรายวัน ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 พบว่ามีข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 350 ข่าว ในจำนวนนี้มีข่าวที่มีเครื่องดื่มแอลกฮอลล์เป็นปัจจัยกระตุ้น มีรายละเอียดดังนี้
ความรุนแรงจากเหตุฆ่ากันมี 201 ข่าว ฆ่าตัวตาย 38 ข่าว ทำร้ายกัน 51 ข่าว ความรุนแรงทางเพศ 31 ข่าวตั้งครรภ์ไม่พร้อม 10 ข่าว อื่นๆ 19 ข่าว
กรณีข่าวคามรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว มีจำนวนทั้งสิ้น 31 ข่าว แบ่งเป็น การข่มขืนโดยบุคคลในครอบครัว 30 ข่าว การอนาจารโดยบุคคลในครอบครัว 1ข่าว กรณีการข่มขื่นโดยบุคคลในครอบครัวจำแนกดังนี้ พ่อกระทำ 9 ข่าว เครือญาติกระทำ 15 ข่าว พ่อเลี้ยงกระทำ 5 ข่าว อดีตสามีกระทำ 2 ข่าว
การจำแนกประเภทตามความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ พบกรณีระหว่างสามี-ภรรยา รวมทั้งสิ้น 104 ข่าว
จำแนกเป็นสามีกระทำต่อภรรยา 65 ข่าว สามีกระทำต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง 28 ข่าว ภรรยากระทำต่อสามี 9 ข่าว ภรรยากระทำกับผู้ที่เกี่ยวข้อง 2 ข่าว
ระหว่างพ่อแม่ลูก รวมทั้งสิ้น 46 ข่าวจำแนกเป็น ลูกกระทำต่อพ่อแม่ รวม 29 ข่าว จำแนกเป็นลูกฆ่าแม่ 8 ข่าว ลูกฆ่าพ่อ 14 ข่าว ฆ่าพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง 6 ข่าว พยายามฆ่าพ่อแม่ 1 ข่าว
พ่อกระทำต่อลูก 10 ข่าว แม่กระทำต่อลูก 7 ข่าว
ระหว่างเครือญาติ รวมทั้งสิ้น 25 ข่าว จำแนกเป็น พี่น้องกระทำต่อกัน 9 ราย รวมทั้งมีกรณีญาติฝ่ายภรรยากระทำต่อเขย 4 ข่าว การฆ่ากันระหว่างญาติ กรณีอื่นๆ 12 ข่าว
ระหว่างคู่รักแบบแฟน รวม 22 ข่าว จำแนกเป็น ฝ่ายชายกระทำต่อฝ่ายหญิง 9 ข่าว ฝ่ายชายกระทำต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง 8 ข่าวฝ่ายหญิงกระทำกับฝ่ายชาย 3 ข่าว การฆ่ากันของคนข้ามเพศ 2 ข่าว
ข่าวฆ่ายกครัว มีสามีเป็นผู้กระทำ 4 ข่าว
ประเภทข่าวทำร้ายกัน ความสัมพันธ์ของผู้ก่อเหตุ พบข่าวสามีภรรยาทำร้ายกัน 22 ข่าว
ทำร้ายกันระหว่างพ่อแม่ลูก มีทั้งสิ้น 18 ข่าว ในจำนวนนี้ ลูกทำร้ายแม่ 6 ข่าว ลูกทำร้ายพ่อ 5 ข่าว แม่ทำร้ายลูก 5 ข่าว ลูกเลี้ยงถูกทำร้าย 2 ข่าว
การทำร้ายกันระหว่างเครือญาติ 6 ข่าว คู่รักแบบแฟนทำร้ายกัน 5 ข่าว
ประเภทข่าวการฆ่าตัวตาย พบเพศชายฆ่าตัวตาย 32 ข่าว เพศหญิงฆ่าตัวตาย 5 ข่าว พ่อกับลูกฆ่าตัวตายทั้งคู่ 1 ข่าว
มูลเหตการก่อเหตุฆ่าตัวตายของเพศชาย พบ 8 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1.น้อยใจภรรยา น้อยใจคนรัก น้อยใจแม่ 2.ภรรยาบอกเลิก เพิ่งเลิกกับภรรยา ผิดหวังในความรัก 3.ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว ไม่มีงานทำจากสถานการณ์โควิด-19
4.ระแวงว่าภรรยามีคนอื่น หึงหวง5.ภรรยามีคนอื่น หนีออกจากบ้าน 6.ทะเลาะกับภรรยา คนรัก 7.เครียดที่สร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัว คิดว่าตนเองเป็นโรคร้าย 8.ภรรยาเพิ่งเสียชีวิต
มูลเหตุของการฆ่าตัวตายของเพศหญิง พบ 2 สาเหตุหลัก คือ 1.น้อยใจแม่ น้อยใจลูก น้อยใจแฟนหนุ่ม 2.ปัญหาเศรษฐกิจครอบครัว
รายงานระบุว่าความเป็นแม่และเป็นเมียกับภาระที่ผู้หญิงต้องแบกรับท่ามกลางสังคมชายเป็นใหญ่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผู้หญิงตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ รวมทั้งความเป็นผู้หญิงที่สังคมมักให้คุณค่าไม่เท่าเทียมกับผู้ชายเป็นสิ่งที่หนักอยู่แล้ว เมื่อต้องเป็นแม่ เป็นเมีย จึงยิ่งอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบกว่าผู้ชาย
หลังการเสนอรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรง มีการเสวนาโดยตัวแทนจากผู้ที่ถูกสามีทำร้ายเนื่องจากภาวะกดดันและเครียดในช่วงวิกฤติโควิด-19 ร่วมเสวนาโดยหญิงอาชีพพนักงานโรงงานรายหนึ่ง ระบุว่าปกติ สามีเป็นคนอารมณ์รุนแรงอยู่แล้ว แต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 ถูกทำร้ายหนักขึ้น เนื่องจากรายได้จากการทำงานลดลง โดนสามีทำร้าย และรายได้ไม่พอใช้
“ต้องเอาข้าวบูดไปล้างน้ำแล้วนำมาต้มใส่เกลือให้ลูกกิน ในช่วงโควิด ไม่มีข้าวจะหุง ช่วงวิกฤติโควิดโดนทำร้ายหนักกว่าเดิม เพราะรายได้ลด โอทีลด วันหยุดเพิ่มขึ้น จากเดิมมีโอทีทุกอาทิตย์ เมื่อเงินลดลงสามีมองว่าเป็นความผิดของเรา เขาพาลใส่เรา สามีออกไปกินเหล้า เขาไม่มีเงินเขาก็เซ็นต์ค้างเงินร้านเหล้า สามีเคยฆ่าลูกแมวตาย อารมณ์เขารุนแรงมาก แล้วเขาก็พูดกับเราว่าสักวันจะฆ่าให้ตาย พูดตอนเมา” หญิงรายนี้ระบุ
ผู้เสวนาอีกรายหนึ่ง เป็นหญิงไทยที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ มีอาชีพเป็นล่าม พูดได้หลายภาษา เคยเป็นครูสอนศิลปะการต่อสู้ ปัจจุบันทำงานอาสาสมัครและมีร้านสักเป็นของตัวเอง สามีเป็นชาวต่างชาติ เมื่อช่วงปลายปี 2018 ตัดสินใจย้ายกลับมาอาศัยอยู่ในเมืองไทยที่จังหวัดแห่งหนึ่ง กล่าวว่า
“ช่วงโควิด สามีหงุดหงิดอารมณ์รุนแรง เคยผลักประตูไม้สักกระแทกใส่จนหน้าเราไถลลงไปที่พื้น แล้วสามีบอกว่าคงไม่ตายหรอกนะ สาเหตุหนึ่งที่เขาทำรุนแรงแบบนี้เพราะมีสิ่งเร้าคือเหล้า เขากินเหล้ามา เราได้กลิ่น เราพยายามลุกขึ้น สามีก็ยันเข่ามาที่เรา และมีหลายครั้งใช้คำพูดที่รุนแรง เช่น ด่าว่าเป็นโสเภณี ทวงเงินที่เคยเลี้ยงดูกันมา เป็นคำพูดที่เริ่มรุนแรง ทำข้าวของเสียหาย และทำร้ายร่างกาย” หญิงรายนี้ระบุ
หลังการเสวนา จรีย์ กล่าวว่าทุกวันนี้มีผู้ที่เข้ามาขอคำปรึกษามูลนิธิชายหญิงก้าวไกลทางออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะทางเฟซบุ๊ก มีเคสต่างๆ เข้ามาขอความช่วยเหลือ โดยการให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิจะมีกระบวนการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ มีพื้นที่นำร่องที่คณะทำงานอาสาสมัครลงไปทำงานร่วมกับผู้ที่มีปัญหาและมองเห็นปัญหาเพื่อช่วยกันดูแลแก้ไข
จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่ายมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
จรีย์กล่าวว่าการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นอกจากต้องเริ่มที่ภายในครอบครัวแล้วยังต้องมีการใช้กลไกทางสังคมด้วย ผู้ที่อยู่แวดล้อมต้องคอยช่วยเหลือสอดส่องเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงในครอบครัว ต้องรีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากพบว่ามีการทำร้ายเกิดขึ้น เพราะจากจำนวนข่าวที่ศึกษามาพบว่ามีหลายกรณีที่ผู้เสียหายและถูกกระทำรุนแรงไม่ได้รับความช่วยเหลือจากคนนอกเลย ดังนั้น กลไกรัฐ สังคม ต้องช่วยกันอย่างเป็นระบบ คนในสังคมต้องไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงในครอบครัว หน่วยงานภาครัฐต้องมีกลไกรองรับการให้ความช่วยเหลือ
จรีย์กล่าวด้วยว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญที่สะท้อนถึงความรุนแรงในครอบครัวคือ กรณีสามีบังคับให้ภรรยามีเพศสัมพันธ์ด้วยโดยที่ภรรยาไม่ยินยอม และปัญหาที่มักพบในกระบวนการทำงาน คือเมื่อภรรยาถูกทำร้ายแล้วไปแจ้งความ ตำรวจมักไม่รับแจ้งความเนื่องจากเห็นว่าเป็นปัญหาในครอบครัว ดังนั้น ทั้งสังคม ภาครัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐต้องร่วมกันวางกลไกในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที
สำหรับความรุนแรงที่เพิ่มสูงในช่วงวิกฤติโควิด-19 ปัจจัยหลักประการหนึ่งเนื่องจากความเครียดสะสมจากสภาวะปัญหาด้านเศรษฐกิจ การตกงาน ว่างงาน “เดิมที ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมีมานานแล้วจากสภาพสังคมที่ผู้หญิงถูกกดทับ แต่เหตุการณ์โควิด วิกฤติที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นหินก้อนใหญ่กว่าเดิมที่กดทับลงมา” จรีย์ระบุ