จุฬาฯ แถลงผลการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19ชนิด mRNA ด้าน ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน เผย พบว่าลิงสามารถคุมเชื้อได้อย่างมีนัยสำคัญ เชื้อในปอด ในจมูกลดลง หากผ่านการรับรองจาก อย.และผ่านการพิจารณา ผ่านการประเมินโดยคณะกรรมการกลางจริยธรรมแพทยศาสตร์ เตรียมรับอาสาสมัครทดลองวัคซีน
วันที่ 12 กรกฎาคม ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย มีการแถลงผลการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีชื่อ จุฬา โควิด-19 หรือ CU-Cov-19 โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19ชนิด mRNA
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่ง ใจความระบุว่าในการวิจัยในลิง เมื่อลิงได้รับเชื้อโควิด19 และได้รับการทดลองวัคซีน พบว่าลิงสามารถคุมเชื้อได้อย่างมีนัยสำคัญ เชื้อในปอด ในจมูกลดลงไปเยอะ ลดลงมากกว่าเป้าเยอะมาก เราดีใจ แต่สิ่งที่อยากจะย้ำจากการทดลองในหนูและในลิงคือ หนูไม่ใช่ลิง และลิงไม่ใช่คน
โดยทฤษฎีแล้ว หนูอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สกปรกมากกว่า เจออะไรมากมายก่ายกอง ลิงก็ต้องใช้ปริมาณโดสลดลงมากกว่าหนู คนก็ต้องใช้น้อยกว่าลิงไม่น้อยกว่า 5 เท่า
ดังนั้น สำหรับวัคซีนนี้ หนทางข้างหน้ายังมีอีกยาวไกล ความท้าทายยังมี หากถามว่าความท้ายทายมีอะไรบ้าง คือ ผลทดลองกับหนู กับลิงได้ผลแล้ว สเต็ปต่อไปคือรอผลิตแล้ว ในสัปดาห์หน้าเราจะส่งให้โรงงานผลิต เราต้องใช้เวลาในการผลิต เราจองโรงงานเรียบร้อยแล้ว โรงงานแรกผลิตเนื้อวัคซีน mRNA อีกโรงงานผลิตตัวเคลือบ เราคาดว่าถ้าเราเริ่มส่ง โรงงานแรกน่าจะผลิตเสร็จต้นเดือนตุลาคม จากนั้นเราก็ส่งให้โรงงานที่สองไปผลิตตัวเคลือบ
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่าโครงการนี้มีความเป็นไปได้เพราะเรามีพาร์ทเนอร์คือ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย แล้วก็มีสองบริษัทคือTriLink ที่ซานดิเอโก อเมริกา อีกบริษัทมีฐานการผลิตขนาดเล็กสำหรับผลิตวัคซีนปริมาณหนึ่งโดสอยู่ที่แวนคูเวอร์
ส่วนประเด็นการทดลองในอาสาสมัคร จะแบ่งกลุ่มเฟสแรกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก 75 คน อยู่ในวัย 18-60 ปี เป็นวัยรุ่นถึงวัยกลางคน อีกกลุ่มจะมีอายุมากกว่า 60 ปี
เน้นที่ความปลอดภัย โดยอาสาสมัครต้องผ่านเกณฑ์เรื่องสุขภาพ แข็งแรง ปลอดภัยไม่มีโรคประจำตัว แล้วเวลาวิจัยไม่ได้ทดสอบทีเดียว 75 ท่าน แต่แบ่งเป็นกลุ่มการทดลอง โดยจะเริ่มจากโดสต่ำ 10 ไมโครกรัม
จากนั้นเริ่มกลุ่มที่2 คือปริมาณ 30ไมโครกรัม ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล เนื่องจากจะมีคณะกรรมการกลางทำการตรวจสอบและประเมินจริยธรรมในการทดลองด้วย คณะกรรมการเหล่านี้ แม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มวิจัย แต่เป็นผู้ที่มีความรู้
นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครกลุ่มที่สามที่ทดลองปริมาณ 100 ไมโครกรัม เป็นโดสสูงสุดในการทดลอง
นอกจากนี้ก็จะมีกลุ่มอายุมากกว่า 18-60 ปี เมื่อการทดลองกลุ่มแรกผ่านไปแล้วเราก็จะเริ่มการทดสอบกับกลุ่มอายุมาก
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่าศึกษาเรื่องความปลอดภัยมานานแต่กว่าจะทดลองวัคซีนในอาสาสมัครได้ก็ยังต้องใช้เวลาอีกนาน อาจเป็นช่วงปลายปี ตอนนี้ ลำดับแรกต้องให้ยาผ่าน อย.ก่อน
“นอกจากนี้เราจะดูว่าโดสระดับไหนดีที่สุด แล้วจะขยายกลุ่มอาสาสมัครให้เพิ่มขึ้น จริงๆ เรายังไม่ได้รับอาสาสมัครไม่ได้แม้แต่คนเดียว เราต้องรอให้ อย.รับรองก่อน และต้องผ่านกรรมการจริยธรรมของคณะแพทยศาสตร์ก่อน ยังไม่สามารถรับรองได้ ต้องให้เกียรติคนกลางที่จะประเมินว่าวัคซีนเราปลอดภัย จึงจะนำไปทดลองกับอาสาสมัคร อย่างเร็วที่สุดอาจจะปลายกันยาที่จะเริ่มรับอาสาสมัครอย่างเป็นทางการหลังได้รับการรับรองจาก อย.” ศ.นพ.เกียรติ ระบุ