ศาลอาญาคดีทุจริตฯภาค 1 พิพากษายกฟ้อง ‘วิวัฒน์ เสนีย์มโนมัย’ อดีต ผช.ระบบขนส่ง กฟผ. ถูกกล่าวหาเอื้อประโยชน์ บ.ถิรไทยฯ ได้ประมูลหม้อแปลงไฟฟ้า เผยแม้เจ้าตัวถือหุ้นอยู่แต่มีเพียงแค่ 0.5% พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่ากระทำผิด คู่ความไม่อุทธรณ์ต่อ คดีถึงที่สุดแล้ว
จากกรณีเมื่อปลายปี 2558 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายวิวัฒน์ เสนีย์มโนมัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว) กับพวกที่เป็นคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ กรณีถูกกล่าวหาว่าจัดซื้อหม้อแปลงไฟฟ้า โดยเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญา เนื่องจากถือหุ้นอยู่ในบริษัทดังกล่าว โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 นั้น (อ่านประกอบ : ประมวลชัดๆ"ข้อมูล-หลักฐาน" อดีตบิ๊กขรก.เอื้อปย.เอกชนขายหม้อแปลง "กฟผ.")
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเดือน ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษายกฟ้องในกรณีดังกล่าว โดยเห็นว่านายวิวัฒน์ มิได้กีดกันหรือเอื้อประโยชน์ผู้ใดในการประกวดราคาหม้อแปลงไฟฟ้าดังกล่าว และคดีนี้ได้ถึงที่สุดแล้ว เนื่องจากคู่ความไม่ยื่นอุทธรณ์ ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 2563 (ดูเอกสารประกอบ)
โดยคดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 พิเคราะห์แล้วสรุปได้ว่า กฟผ. มีนโยบายส่งเสริมให้บริษัท เอบีบี จำกัด และบริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ผลิตหม้อแปลงขนาด 300 MVA ให้แก่ กฟผ. เพราะเป็นผู้ผลิตภายในประเทศไทย และบริษัททั้ง 2 ได้ขอรับการสนับสนุนจาก กฟผ. ต่อมา กฟผ. ได้ประชุมแนวนโยบายในการรับอุปกรณ์ที่ผลิตใหม่ภายในประเทศเข้าใช้งานในระบบ โดยผลการประชุม กฟผ.ให้การสนับสนุนในเบื้องต้นทั้ง 2 บริษัท บริษัทละ 2 ชุด ไม่จำกัดพื้นที่ใช้งาน และเปิดโอกาสให้สามารถเข้าร่วมประกวดราคาได้ หากชนะการประกวดราคาให้ทดลองใช้งานในระบบเป็นเวลา 1-3 ปี เพื่อประเมินผลการใช้งานก่อนเข้าร่วมประกวดราคาในครั้งต่อไป ต่อมามีการประกวดราคาโดยมิได้กำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้บริษัท เอบีบี จำกัด มีสิทธิขายได้ถึง 4 ชุด ดังนั้นการที่นายวิวัฒน์ให้ความเห็นว่า ควรซื้อจากบริษัท เอบีบี จำกัด เพียง 2 ชุด เพื่อให้ตรงตามที่ประชุมแนวนโยบายในการรับอุปกรณ์ที่ผลิตใหม่ภายในประเทศ จึงเป็นความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อ กฟผ.
นอกจากนี้คณะกรรมการประกวดราคาฯ ยังเห็นว่า หากรับอุปกรณ์ของบริษัท เอบีบี จำกัด ทั้ง 4 หม้อแปลงจะเกิดความเสี่ยงมาก ซึ่งไม่เป็นไปตามมติของคณะกรรมการที่กำหนดและร่างขอบเขตงาน (TOR) คณะกรรมการประกวดราคาฯพิจารณาเห็นว่า มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์แก่ กฟผ. จึงซื้อเพียง 2 ชุด ดังนั้นพยานหลักฐานที่ปรากฏจึงรับฟังไม่ได้ว่า นายวิวัฒน์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ส่วนกรณีนายวิวัฒน์ทุจริตทำการออกแบบ กำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข หรือกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือช่วยเหลือเอกชนรายใดให้มีสิทธิเข้าทำสัญญาหรือไม่นั้น
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า นายวิวัฒน์ มิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ เป็นผู้บริหารรับผิดชอบระบบขนส่งซึ่งต้องดูแลการใช้งานของหม้อแปลง เพียงแต่เสนอความเห็นให้ได้หม้อแปลงที่ดี อำนาจการตัดสินใจจะซื้อหรือไม่ อยู่ที่คณะกรรมการประกวดราคาฯ การที่บริษัท เอบีบี จำกัด ไม่มีสิทธิเข้าประกวดราคา ก็เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน TOR คืออยู่ในช่วงทดลองงาน 1-3 ปี และในการประกวดราคาครั้งนี้มีบริษัทต่างชาติเข้าประกวดราคา ไม่เป็นที่แน่นอนว่าบริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) จะได้งานครั้งนี้ เพราะต้องแข่งขันกับอีกหลายบริษัท
แม้ว่านายวิวัฒน์จะมีหุ้นอยู่กับบริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ก็ปรากฏว่ามิได้เป็นผู้บริหาร ไม่มีอำนาจในการบริหารงานของบริษัท ถิรไทย จำกัด (ฒหาชน) นายวิวัฒน์ซื้อหุ้นทั่วไปตามตลาดหลักทรัพย์ มีหุ้นอยู่เพียงประมาณ 0.5% พยานหลักฐานที่ปรากฏยังรับฟังไม่ได้ว่า นายวิวัฒน์ทุจริต ช่วยเหลือ หรือกระทำการโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการประกวดราคาหรือเสนอราคาอย่างไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด นายวิวัฒน์มิได้กระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
(ดูเอกสาร คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯภาค 1 ยกฟ้องฉบับเต็ม : https://drive.google.com/file/d/13a9V9b8VlQ6z08QvcQkaidDUckws95JN/view)
อ่านประกอบ :
โชว์บัญชีหุ้น "อดีตบิ๊กกฟผ." หลักฐานมัดเอื้อปย.เอกชนขายหม้อแปลงไฟฟ้า
ประมวลชัดๆ"ข้อมูล-หลักฐาน" อดีตบิ๊กขรก.เอื้อปย.เอกชนขายหม้อแปลง "กฟผ."
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage