‘คุณหญิงชฎา’ แถลงคัดค้านก่อสร้างคอนโดมิเนียมยักษ์สูง 43 ชั้น กลางเมือง ชี้ส่อขัดกฎกระทรวงห้ามสร้าง 'อาคารขนาดใหญ่พิเศษ' บนถนนที่มีความกว้างไม่ถึง 18 เมตร ร้อง คชก.เบรกรายงาน EIA หากไม่ได้ผลเตรียมฟ้องศาลปกครองต่อไป
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ร้าน Counting Sheep ซอยสุขุมวิท 61 คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานชมรมชาวบ้านซอยสุขุมวิท 61 พร้อมด้วยตัวแทนชาวชุมชนซอยสุขุมวิท 61 และผู้แทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดแถลงข่าวคัดค้านการก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ 43 ชั้น ของโครงการ ‘IMPRESSION EKKAMAI’ เนื่องจากเป็นโครงการฯที่จะสร้างผลกระทบให้กับผู้อยู่อาศัยในซอยสุขุมวิท 61 อย่างมาก ขณะที่การก่อสร้างโครงการนี้อาจกระทำผิดเจตนารมณ์กฎหมาย
คุณหญิงชฎา กล่าวว่า ชาวชุมชนคัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เพราะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในย่านนี้โดยตรง ทั้งระหว่างการก่อสร้างและหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จแล้ว เช่น ฝุ่นผงจากการก่อสร้างตลอดช่วงการก่อสร้าง 3 ปี การทรุดร้าวของอาคาร เพราะแรงสะเทือนจากการตอกเสาเข็ม อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาจราจรแออัด เพราะแม้ว่าโครงการจะมีทางเข้า-ออก บริเวณซอยถัดไป คือ ซอยเอกมัย 1 (ซอยสุขุมวิท 63) แต่ทั้ง 2 ซอยต่างก็ใช้ถนนสุขุมวิทร่วมกัน
ที่สำคัญหากภาครัฐอนุญาตให้มีการก่อสร้างโครงการนี้ ซึ่งเป็นอาคารสูงและเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษพื้นที่กว่า 4 หมื่นตารางเมตร จะเท่ากับว่าภาครัฐอนุญาตให้ผู้ประกอบการกระทำผิดเจตนารมณ์กฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) หมวดที่ 1 ออกตามความในพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
“กฎหมายระบุว่าที่ดินที่เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่ ‘อาคารรวมทุกชั้น’ มากกว่า 3 หมื่นตารางเมตร จะต้องตั้งติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร แต่ปรากฏว่าอาคารในพื้นที่โครงการ IMPRESSION EKKAMAI มีพื้นที่กว่า 4 หมื่นตารางเมตร ทำให้อาคารดังกล่าวถือเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งไม่สามารถอนุญาตให้ก่อสร้างได้บนถนนเอกมัยที่มีความกว้างไม่ถึง 18 เมตรได้” คุณหญิงชฎากล่าว
คุณหญิงชฎา กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาที่ตั้งของกลุ่มอาคารในโครงการทั้ง 3 อาคาร พบว่าอาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นอาคารสูง 43 ชั้นนั้น ตั้งเยื้องมาทางฝั่งซอยสุขุมวิท 61 ที่มีถนนกว้างไม่เกิน 10 เมตร ซึ่งกฎหมายห้ามไม่ให้ก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 23 เมตร หรืออาคารสูงเกิน 7 ชั้น นอกจากนี้ ที่ตั้งอาคารที่จอดรถความสูง 8 ชั้น ความสูง 22.97 เมตรนั้น พบว่าแนวกันชนเพียง 3 เมตรเท่านั้น หากเกิดเพลิงไหม้ รถดับเพลิงจะไม่สามารถวนรอบพื้นที่ได้
“โครงการนี้มีผลกระทบต่อพวกเราโดยตรง แต่โครงการกลับไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเพียงพอ เราจึงต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของเรา และนี่ถือเป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่จะกระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารสูงในกรุงเทพฯใช้เป็นแนวทางได้” คุณหญิงชฎากล่าว
คุณหญิงชฎา ระบุว่า ทราบว่าในวันที่ 28 พ.ค.นี้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ด้านอาคารการจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพฯ จะพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการ IMPRESSION EKKAMAI เป็นครั้งที่ 3 หากในท้ายที่สุดแล้ว คชก.เห็นชอบ EIA ซึ่งจะเปิดทางให้มีการก่อสร้างโครงการนี้ได้ ชาวชุมชนซอยสุขุมวิท 61 จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป
คุณหญิงชฎา ยังกล่าวด้วยว่า ชาวชุมชนซอยสุขุมวิท 61 ทราบดีว่าผู้ประกอบการซื้อที่ดินมาแพงเพื่อทำโครงการนี้ ซึ่งชาวชุมชุนฯเองไม่ได้คัดค้านว่าสร้างไม่ได้ แต่หากจะสร้างต้องทำให้ถูกกฎหมาย
นางมาลิน่า ปาลเสถียร ตัวแทนชาวชุมชนซอยสุขุมวิท 61 กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมคชก. กรุงเทพ 2 ครั้งที่ผ่านมา มีการเสนอรายงาน EIA ที่มีข้อกำหนดให้ผู้ดำเนินโครงการปรับปรุงแก้ไขทั้งหมด 62 เรื่อง แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ดำเนินโครงการกลับมีการแก้ไขปรับปรุงได้เพียง 5-6 ข้อเท่านั้น ขณะที่การปรับปรุงแก้ไขเรื่องดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่ได้ลดผลกระทบให้กับชาวชุมชนมากนัก เช่น ลดความสูงของอาคารจอดไม่ถึง 20 เซนติเมตร
ขณะที่นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงที่ส่งผลกระทบต่อชาวชุมชนซอยสุขุมวิท 61 นั้น เป็นหนึ่งในปัญหาที่มูลนิธิฯได้รับการร้องเรียนมาตลอด โดยปัจจุบันมีชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากกก่อสร้างอาคารสูง 14 ชุมชนทั่วกรุงเทพฯ และปัญหาสำคัญที่พบขณะนี้ คือ คชก. ไม่เคยลงมารับฟังปัญหาความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ ได้แต่อ่านรายงานที่ผู้ดำเนินการเสนอขึ้นไปเท่านั้น
“คชก.ต้องลงมาดูพื้นที่ด้วย เพราะจะได้ดูว่าเหมาะสมที่จะอนุมัติ EIA หรือไม่ และก่อนจะอนุมัติให้มีการก่อสร้างต้องให้ชุมชนเก่าอยู่ได้ ไม่ใช่ทิ้งปัญหาไว้ให้คนในชุมชนเก่าและคนที่เข้ามาใหม่ต้องขัดแย้งกันในอนาคต และอยากฝากไปยังผู้ว่าฯกทม.ด้วยว่า การอนุมัติให้มีการก่อสร้างโครงการใดๆก็ตาม หากมีปัญหาแล้วจะแก้ยาก ตัวอย่างเช่นโครงการอาคารสูงในซอยร่วมฤดี ซึ่งศาลปกครองสูงสุดสั่งให้รื้ออาคารแล้ว แต่จนบัดนี้ยังไม่ได้รื้อเลย” นางนฤมลกล่าว
อ่านประกอบ :
ค้านคอนโดยักษ์ 43 ชั้น! ‘คุณหญิงชฎา’ นำทีมชาวชุมชนสุขุมวิท 61 ตั้งโต๊ะแถลงจันทร์นี้
คชก.สั่งทบทวน EIA คอนโดหรูเอกมัย 4.8 พันล้าน ให้เวลาแก้ไข 6 เดือน
คชก.ถกอีไอเอ ‘คอนโดหรู’ 4.8 พันล. เรียกชาวชุมชนสุขุมวิทซอย 61 แจงผลกระทบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/