ครม. ขยายกรอบผู้ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท จาก 9 ล้านคนเป็น 14 ล้านคน คาดใช้งบรวม 2.1 แสนล้านบาท เปิดแหล่งที่มาเงินเยียวยา 3 แหล่ง 'งบกลางปี 63-งบฉุกเฉิน-พ.ร.ก.กู้เงินฯ'
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายจำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) อันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นจำนวน 14 ล้านคน จากเป้าหมายเดิม 9 ล้านคน โดยจะใช้วงเงินในการจ่ายเงินเยียวยารวม 2.1 แสนล้าบาท ซึ่งมีแหล่งที่มาของเงินจาก 3 แหล่ง ดังนี้
1.วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท จะจัดสรรจากงบกลาง รายการสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2563 ซึ่ง ครม.มีมติอนุมัติกรอบวงเงินไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา
2.วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณาจากจะมาจากแหล่งใด เช่น มาจากงบกลาง รายการสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบ 2563 เพิ่มเติม ซึ่งเงินดังกล่าวจะมาจากร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณ 2563 ซึ่งล่าสุดวันนี้ (21 เม.ย.) ครม.มีมติเห็นชอบการโอนงบจากส่วนราชการต่างๆ มาไว้ในงบกลางเพิ่มเติมส่วนนี้ 100,395 ล้านบาท หรืออาจจะมาจากเงินทุนสำรองตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ปี 2561 ซึ่งมีกรอบวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท
3.วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท จะจัดสรรจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในส่วนนี้ โดยคาดว่าจะมีเงินก้อนแรกในช่วงเดือน พ.ค. เช่นกัน
ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รายงานให้ที่ประชุมครม.ว่า ขณะนี้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มีมากกว่าที่ประมาณการไว้ และจากการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผู้ที่เข้าข่ายได้รับสิทธิในการชดเชย แต่ถูกตัดสิทธิ์ ทั้งๆที่ในความจริงบุคคลเหล่านี้ประกอบอาชีพอิสระ หรือลูกจ้าง และแรงงาน ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา ครม.จึงจำเป็นต้องมีการขยายกรอบให้การจ่ายเงินเยียวยาได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนั้น ครม.ยังได้รับทราบการปรับลดงบประมารรายจ่ายประจำปี 2564 ที่จะถูกนำไปตั้งเป็นงบกลาง รายการบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 โดยมีหน่วยงานที่ได้ปรับลดงบประมาณ ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 60.27 ล้านบาท, สถาบันพระปกเกล้า ปรับลด 20.96 ล้านบาท, สำนักงานศาลยุติธรรม ปรับลด 157.86 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปรับลด 33.80 ล้านบาท
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ปรับลด 23.07 ล้านบาท , สำนักงาน ป.ป.ช. ปรับลด 166.72 ล้านบาท, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปรับลด 298.51 ล้านบาท , สำนักงานอัยการสูงสุดปรับลด 141.71 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปรับลด 10.55 ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ปรับลด 13.96 ล้านบาท
นางนฤมล ยังระบุว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 พ.ศ. .... โดยร่างระเบียดังกล่าว จะกำหนดแนวทางการขอรับการจัดสรรงบจากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
เช่น กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่มีอำนาจในการเสนอคำขอใช้เงินกู้ ซึ่งจะต้องมีการแสดงเหตุผลความจำเป็นต่อคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็น เมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯเห็นชอบแล้ว ให้ก่อนเสนอครม.อนุมัติต่อไป
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage