‘พาณิชย์’ กระทุ้งผู้ผลิตลดราคาสินค้า หลังราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง เผยราคา ‘หมู-ไข่” แพง สวนเศรษฐกิจยุคโควิด-19 หนุนรัฐบาลลดค่าเอฟที-ค่าน้ำ-ค่าโดยสารรถสาธารณะ-เติมเงินให้ผู้มีรายได้น้อย พร้อมหั่นเป้าเงินเฟ้อปี 63 เป็นติดลบ 0.6% ต่ำสุดในประวัติศาสตร์เงินเฟ้อไทย จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย-ราคาน้ำมันที่ลดลง
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค.2563 ติดลบ 0.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันลดลง เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวค่อนข้างมาก และการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวส่งผลให้อุปสงค์เกี่ยวกับสินค้าอาหารลดลง แต่ในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.2563) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังขยายตัวได้ที่ 0.41%
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือน มี.ค.2563 ยังขยายตัว 0.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.02% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.2563 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวที่ 0.53%
“เงินเฟ้อทั่วไปเดือนมี.ค.ที่หดตัว 0.54% เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 51 เดือน หรือในรอบ 4 ปี 3 เดือน และติดลบมากกว่ายุคที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โดยสาเหตุจากราคาพลังงานที่ลดลง และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ซึ่งทำให้อุปสงค์ในภาคต่างๆของประเทศลดลง โดยเฉพาะอุปสงค์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงหลายล้านคน” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าพบว่า ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ในเดือน มี.ค.2563 ลดลง 21.34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน น้ำมันดีเซลลดลง 11.07% มะนาวลดลง 25% รวมถึงราคาผักสดและผลไม้ที่ลดลง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเหนียวสูงขึ้น 38.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื้อสุกรสูงขึ้น 3.66% กับข้าวสำเร็จรูปสูงขึ้น 1% และไข่ไก่สูงขึ้น 8.78% เป็นต้น
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สนค. ได้ทบทวนประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั่วปี 2563 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบ 0.2-1% มีค่ากลางติดลบ 0.6% และเป็นระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์เงินเฟ้อไทย ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจปีนี้ที่เข้าสู่ภาวะถดถอย คือ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัว 5-6% ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาได้เมื่อใด
“เงินฝืด ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ตอนนี้เงินเราไม่ได้ฝืดแบบที่ราคาสินค้าต่ำลง หรือ deflation แต่เป็นภาวะที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะ Recession” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
น.ส.พิมพ์ชนก ระบุว่า จากราคาน้ำมันในเดือนมี.ค.ที่ลดลง 11 ครั้ง โดยราคาลดลง 10.23% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.ที่ผ่านมา และลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้น สนค.เห็นว่าผู้ผลิตสินค้าควรพิจารณาลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับผู้บริโภคบ้าง เนื่องจากต้นทุนการผลิตการผลิตที่ลดลง ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมการค้าภายในต้องเข้าไปดูแลในเรื่องโครงสร้างต้นทุนการผลิตสินค้าของผู้ผลิต เพราะราคาน้ำมันลดลงมา 2-3 เดือนแล้ว
“เราเข้าใจว่าคนซื้อน้อยลง ดีมานด์น้อยลง แต่ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติ เมื่อราคาน้ำมันลดลงค่อนข้างเยอะ ทางฝั่งผู้ผลิตควรพิจารณา ถ้าไม่ลดราคาลง ก็ควรเพิ่มปริมาณสินค้า หรือมีมาตรการแจก แถม เช่น ซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 10 ห่อก็แถมให้ 2 ห่อ เป็นต้น” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาลดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่า Ft ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนทั้งประเทศ ลดค่าน้ำประปา และลดราคาค่าโดยสารรถสาธารณะต่างๆ ขณะที่สนค.เห็นว่ารัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยเอาเงินมาใส่กระเป๋าประชาชนก่อน รวมทั้งต้องทำให้การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ติดขัด เพื่อทำให้สินค้าไปถึงประชาชน หลังจากหลายจังหวัดมีมาตรการเข้มงวดในการเดินทางและขนส่ง
น.ส.พิมพ์ชนก ยังกล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้นโยบายกับกระทรวงพาณิชย์ในการกำกับดูแลสินค้าและบริการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การดูแลให้ปริมาณสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดให้มีเพียงพอ 2.ดูแลราคาสินค้าราคาให้อยู่ในที่เหมาะสม 3.ทำให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าสำคัญๆ โดยยืนยันว่าขณะนี้ไทยไม่มีการขาดแคลนสินค้าจำเป็น ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ไข่ ไก่ หมู น้ำมันพืช และน้ำตาล
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/