ผู้ว่าฯภูเก็ตลงนามประกาศสั่งปิดโรงแรมทุกแห่งทั่วภูเก็ต ยกเว้นที่ทางราชการใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เหตุสถานการณ์โควิด-19 บานปลาย ผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กำชับเข้มหากฝ่าฝืนอาจผิด พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ลงนามในประกาศจังหวัดภูเก็ต ที่ 1773/2563 เรื่อง ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญคือ การสั่งปิดโรงแรมทุกแห่งในจังหวัดภูเก็ต ยกเว้นโรงแรมที่ทางราชการใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม
ประกาศดังกล่าว ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันแพร่ระบาดไปทั่วโลก กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกำหนดให้เป็นโรคอันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563 เกี่ยวกับโรคดังกล่าว และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการติดตามสถานการณ์ในจังหวัดภูเก็ตพบว่า ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และข้อ 7 (1) ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 12/2563 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 จึงออกคำสั่งไว้ดังนี้
ปิดโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 ทุกประเภท และสถานประกอบการในลักษณะเดียวกัน ยกเว้นโรงแรมซึ่งทางราชการใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่พักเพื่อสังเกตอาการ หรือใช้เพื่อประโยชน์อื่นใดในทางราชการ
ในการแก้ไขปัญหาตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม การแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อโควิด-19 สำหรับโรงแรมที่มีผู้เข้าพักอยู่ก่อนที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ให้พักต่อไปจนกว่าผู้เข้าพักจะออกจากห้องพักจนหมด แล้วให้ปิดทันทีโดยไม่มีการรับผู้เข้าพักเพิ่มอีก ทั้งนี้ให้โรงแรมที่ยังมีนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางเข้าพักอยู่ ต้องแจ้งจำนวนและรายชื่อผู้เข้าพักให้ที่ทำการปกครองอำเภอทราบ เพื่อตรวจคัดกรองผู้เข้าพักทุกคน หากผู้เข้าพักคนใดเข้าข่ายที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 จะต้องถูกส่งไปแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตอาการ ยังสถานที่ที่จังหวัดกำหนด้วย
หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ จะมีความผิดตาม มาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
อ่านประกอบ : สมชาย แสวงการ : ภูเก็ตอันตราย ระวังสายเกินแก้?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/