‘อุตตม’ เผยเตรียมเสนอมาตรการเยียวผลกระทบโควิด-19 ชุดที่ 3 เข้าครม.เร็วๆนี้ ครอบคลุม ‘ประชาชน-ผู้ประกอบการ-ตลาดเงินตลาดทุน’ ขณะที่ยอดลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท พุ่งเกือบ 20 ล้านคนแล้ว ขอเวลาคัดกรองอย่างน้อย 7 วันทำการ ย้ำต้องเข้าเกณฑ์คุณสมบัติ 3 ข้อ จึงจะได้รับเงินเยียวยา
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยฯ ระยะที่ 3 และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเร็วๆนี้ แต่คงเสนอไม่ทันวันอังคารนี้ (31 มี.ค.) โดยชุดมาตรการฯ ระยะที่ 3 จะมีขนาดที่เหมาะสมและจำเป็นในการดูแลเศรษฐกิจทั้งระบบ อีกทั้งมีขนาดใหญ่กว่าชุดมาตรการระยะที่ 1 และชุดมาตรการระยะที่ 2 รวมกัน แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะใช้เงินเท่าใด
สำหรับชุดมาตรการฯ ระยะที่ 3 จะครอบคลุมการดูแลประชาชน ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายกลางและรายเล็ก แรงงานที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ และเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนการดูแลระบบการเงิน ระบบธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ระบบตลาดทุน และหุ้นกู้
“ตอนนี้เราได้เร่งออกมาตรการมา 2 ชุดแล้ว เพื่อเยียวยากันตั้งแต่ระยะต้น และเราจะได้เห็นมาตรการออกมาอีก เมื่อถามว่าเราจะถังแตกหรือไม่ ไม่ถังแตกแน่นอน เพราะการจัดสรรงบสำหรับมาตรการต่างๆที่ออกมาแล้วหรือที่จะมีในอนาคต จะมีการดูแลอย่างรอบคอบรัดกุม สำนักงบประมาณเขาดูแลแน่นอน เขาคงไม่ให้งบประมาณมาแล้วถังแตก และตามที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะไปกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ขอยืนยันว่าไม่มี ไม่มีเรื่องนี้” นายอุตตมกล่าว
นายอุตตม ย้ำว่า รัฐบาลมั่นใจว่าสามารถจัดหาเงินมาให้สำหรับดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ทั้งจากการจัดสรรงบประมาณ และส่วนอื่นๆที่จะนำมาเสริมกัน
เมื่อถามว่าจะมีการจัดทำพ.ร.บ.โอนงบประมาณปีงบ 2563 เพื่อโอนงบมาใช้จ่ายตามมาตรการฯ ระยะที่ 3 แทนการออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ หรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า อย่าไปคิดว่าจะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆที่มี และส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่าการใช้จ่ายงบตามมาตรการต่างๆของรัฐบาลเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ทุกอย่างจะยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง คือ หนี้สาธารณะต่อจีพีดีจะไม่เกิน 60%
“เราเชื่อว่ายังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง เรายังแข็งแรงอยู่ ขอให้มั่นใจได้ว่าเรามีกำลังที่จะออกมาตรการทางเศรษฐกิจชุดต่อไปแน่นอน” นายอุตตมระบุ
ส่วนการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 นั้น นายอุตตม กล่าวว่า รัฐบาลจะดูแลกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยในส่วนธุรกิจการบินนั้น กรมสรรพสามิตได้ให้ความช่วยเหลือแล้ว โดยการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบิน และกระทรวงการคลังได้ขอให้ธนาคารออมสินกันเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1 หมื่นล้านบาท จากเงินกู้ทั้งหมด 1.5 แสนล้านบาท ให้กับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยตรง
เมื่อถามว่าเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบ 5.3% ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินหรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า ตอนยังพูดชัดไม่ได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าไวรัสโควิด-19 จะมีผลกระทบไปถึงเมื่อใด ซึ่งการประเมินของธปท.ก็เป็นการสะท้อนว่าผลกระทบเกิดขึ้นนั้นรุนแรง ส่วนตัวเลขจริงจะไปจบตรงไหน ยังบอกไม่ได้
นายลวลณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงยอดผู้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน ว่า ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 28 มี.ค.2563 จนถึงเวลา 14.00 น. ของวันที่ 30 มี.ค.2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 19.8 ล้านคน ส่วนผู้มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินเยียวยานั้น จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบคัดกรองก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาตรวจสอบคัดกรองอย่างน้อย 7 วันทำการ
“มีหลายคนเข้าใจผิดว่า ลงทะเบียนเสร็จแล้วรอรับเงินได้เลย ซึ่งไม่ใช่ เพราะหลังจากผู้ลงทะเบียนได้รับ SMS ยืนยันว่าลงทะเบียนสมบูรณ์แล้ว นั่นหมายความว่าเราได้รับข้อมูลจากท่านมาแล้ว โดยจากนี้ไปจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องข้อมูล และคัดกรองว่าผู้ลงทะเบียนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์หรือไม่ และในกรณีที่ข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง กระบวนการการตรวจสอบจะใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด 7 วันทำการ” นายลวลณกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายลวลณ ระบุว่า เนื่องจากล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนเกือบ 20 ล้านชุดข้อมูล และยังมีการลงทะเบียนเพิ่มเติมเข้ามาอีก จึงมีความเป็นไปได้สูงว่ากระบวนการคัดครองจะต้องใช้เวลามากกว่า 7 วันทำการ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่ผ่านการคัดกรองนั้นเป็นผู้ที่สมควรได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทจริงๆ ขณะที่การเปิดให้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จะเปิดให้ลงทะเบียนตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน
นายลวลณ ย้ำถึงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยามี 3 เกณฑ์หลัก ได้แก่ 1.เป็นแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ อาทิ วินมอเตอร์ไซค์ ขับรถแท็กซี่ ร้านก๋วยเตี๋ยว และค้าขาย เป็นต้น 2.ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม คือ กลุ่มที่ไม่ได้รับการดูแลและเยียวยาจากระบบประกันสังคม และ3.ต้องได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ในรูปของรายได้ที่เป็นตัวเงิน เช่น ถูกให้ออกจากงาน ลดเงินเดือน และถูกลดวันทำงาน หรือสถานประกอบการถูกปิด เป็นต้น
อ่านประกอบ :
สำรวจมาตรการช่วยเหลือ 'ประชาชน-ลูกหนี้แบงก์' ฝ่าวิกฤติโควิด-19
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/