ผู้ว่าฯภูเก็ตออกประกาศ ปิดช่องทางเข้า-ออกในจังหวัด ทั้งทางบก-น้ำ เหตุสถานการณ์โควิด-19 ยังระบาด ไม่มีแนวโน้มลดลง ยกเว้นรถขนส่งอุปโภคบริโภค-รถกู้ภัย-รถแพทย์-รถวัสดุก่อสร้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2563 นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ผู้กำกับบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ลงนามในประกาศจังหวัดภูเก็ต ฉบับที่ 11/2563 เรื่อง ปิดช่องทางเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ต
ประกาศดังกล่าว ระบุว่า ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตได้ออกมาตรการในการเฝ้าระวังและยับยั้งการแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) มาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้นในปัจจุบันสถานการณ์การติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) ก็ยังไม่มีแนวโน้มลดลงเพื่อเป็นการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็วและไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 (ฉบับที่
1) ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อในคราวประชุมครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563จึงกำหนดปิดช่องทางเข้า - ออกพื้นที่จังหวัดภูเก็ตยกเว้นช่องทางเดินอากาศ ตั้งแต่เวลา 00.01น. ของวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563 ถึง วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2563จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นดังนี้
1.ปิดช่องทางบก
ด่านตรวจจังหวัดภูเก็ต (ท่าฉัตรไชย) โดยห้ามยานพาหนะทุกชนิด และบุคคลเข้า – ออก ยกเว้นยานพาหนะสำหรับการขนส่งสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค แก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ ยานพาหนะกู้ชีพกู้ภัย รถพยาบาล รถฉุกเฉินทางการแพทย์ รถที่ใช้สำหรับภารกิจของทางราชการ รถขนส่งพัสดุและสิ่งพิมพ์ ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตยกเว้นหรือผ่อนผัน ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อโดยเคร่งครัด
2.ปิดช่องทางน้ำ
2.1 ช่องทางเข้า-ออก ทางน้ำระหว่างประเทศ โดยห้ามเรือทุกชนิดและบุคคล เข้า – ออก ยกเว้นเรือบรรทุกสินค้าขนส่งสินค้าตามความจำเป็นเมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้กลับออกไปโดยเร็ว โดยไม่อนุญาตให้ลูกเรือและ/หรือ คนประจำเรือลงจากเรือโดยเด็ดขาด
2.2 ช่องทางเข้า-ออก ทางน้ำระหว่างจังหวัด โดยห้ามเรือทุกชนิดและบุคคล เข้า – ออก ยกเว้นเรือสำหรับการขนส่งเครื่องอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง เรือกู้ชีพและขนส่งเครื่องมือแพทย์ เรือพยาบาล เรือฉุกเฉินทางการแพทย์ เรือที่ใช้สำหรับภารกิจของทางราชการทั้งนี้ ผู้ควบคุมเรือและเจ้าหน้าที่ประจำเรือซึ่งจำเป็นต้องลงจากเรือ ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองตามมาตรการป้องกันโรคติดต่อที่ทางราชการกำหนด
ทั้งนี้ การถือปฏิบัติตามข้อ 1 และข้อ 2 ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน ดังต่อไปนี้
1. เป็นกรณีหรือผู้มีเหตุยกเว้น ตามที่นายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด หรืออนุญาตตามความจำเป็น โดยอาจกำหนดเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาก็ได้
2. เป็นบุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาล ที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต หรือหน่วยงานของประเทศอื่น ตามที่กระทรวงการต่างประเทศหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุญาตตามความจำเป็นตลอดจนบุคคลในครอบครัวบุคคลดังกล่าว โดยติดต่อกระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
บุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น หรือผ่อนผัน ตามข้อ 1 –2 ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่า มีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง ซึ่งได้รับการตรวจรับรอง หรือ ออกให้ในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง และเมื่อเข้าในพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ตแล้ว ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดโดยเคร่งครัดและเจ้าหน้าที่ประจำด่านมีอำนาจปฏิเสธไม่ให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ตรวจพบ หรือ ต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด -19 หรือไม่ยินยอมให้ตรวจ เดินทางเข้าในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2563 ถึง วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2563 จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น
ประกาศ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2563
(นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์)
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต
ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage