‘แบงก์ชาติ’ เดินหน้า 3 มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท เปิดทางแบงก์นำหน่วยลงทุนตราสารหนี้ที่ซื้อคืนจากประชาชนไปค้ำประกันเงินกู้จาก ธปท.ได้ พร้อมตั้งกองทุน 1 แสนล้านบาท ซื้อตราสารหนี้เอกชนในภาวะ ‘ตลาดบาง’ ด้าน ‘คลัง’ ชงมาตรการเยียวยาผลกระทบ ‘ปิดร้าน’ จากมาตรการสกัดไวรัส เข้าครม.อังคารนี้
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น.ส.รื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการการลงทุน และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมแถลงข่าว ‘มาตรการรองรับสถานการณ์ COVID-19’
โดยนายวิรไท ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น สร้างความกังวลให้แก่ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ราคาสินทรัพย์ผันผวนสูง นักลงทุนในหลายประเทศเทขายสินทรัพย์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง กระทบสภาพคล่องของตลาดการเงิน ส่งผลให้ตลาดการเงินไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ภาครัฐในหลายประเทศจึงได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ แม้ระบบสถาบันการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพดี ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนเข้มแข็งและไม่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่สถานการณ์สภาพคล่องตึงตัวในระบบการเงินโลก และกลไกตลาดการเงินที่ทำงานต่างจากสภาวะปกติ ได้เริ่มส่งผลต่อตลาดการเงินไทย
ธปท.ได้ช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน โดยเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลกว่า 1 แสนล้านบาทในช่วงวันที่ 13 -20 มี.ค.2563 ลดและยกเลิกการออกพันธบัตร ธปท. และเมื่อวันที่ 20 มี.ค. คณะกรรมการนโยบายการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75% ต่อปี ธปท.พร้อมที่จะเข้าดูแลตลาดพันธบัตรรัฐบาลให้ทำงานได้ตามปกติ ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลผันผวน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่มีความผันผวนสูง ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนบางส่วนเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตราสารหนี้ ส่งผลให้กองทุนฯต้องเร่งขายตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่มีคุณภาพดีในราคาต่ำกว่าปกติ เพราะการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนอื่นๆตามมา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาคเอกชน เศรษฐกิจ และประชาชนเป็นวงกว้าง
ดังนั้น กระทรวงการคลัง ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และเห็นควรออกมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินขยายผลต่อไป โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วยการดำเนินงานใน 3 ด้าน ดังต่อไปนี้
1.กองทุนรวมตราสารหนี้ ธปท.จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily fixed income fund) ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี แต่ได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท. ได้
โดยจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์ในตลาดการเงินจะเข้าสู่ภาวะปกติ จากการประมาณการเบื้องต้นพบว่ามีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีที่สามารถนำมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการเสนอมาตรการดังกล่าวให้คณะกรรมการ ธปท.เห็นชอบในวันที่ 23 มี.ค.นี้ และธปท.จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.2563 เป็นต้นไป
“เมื่อมีคนมาขายหน่วยลงทุน แบงก์พาณิชย์จะเข้าไปซื้อ ซึ่งแบงก์พาณิชย์มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่เยอะ เขาก็ใช้สภาพคล่องของตัวเองส่วนหนึ่ง แต่ถ้าอยากจะมาใช้สภาพคล่องของธปท. ก็เอาหน่วยลงทุนที่ซื้อมากู้ยืม โดยนำหน่วยลงทุนมาเป็นหลักประกันได้ ซึ่งถ้าไม่มีกลไกนี้ และประชาชนเกิดตื่นตระหนก ไปไถ่ถอนหน่วยลงทุนกันเยอะ กองทุนก็ต้องเร่งขายทรัพย์สิน ซึ่งมีคุณภาพดี ความเสี่ยงต่ำ ราคาจะลงไปต่ำมาก ประชาชนก็จะได้ผลตอบแทนกลับไปน้อย
อีกทั้งถ้าเป็นกองทุนที่ดี ซึ่งถือพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนที่มีคุณภาพดีๆ ถ้าคนเห็นว่าราคาลดต่ำมากจนเขาขาดทุน เขาจะตกใจ และทำให้ตลาดปั่นป่วน เกิดความสับสน ดังนั้น กลไกนี้จะช่วยทำให้มีสภาพคล่องเข้าไปสู่กองทุนรวม ทำให้กองทุนรวมไม่จำเป็นต้องเร่งขายสินทรัพย์ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทุกคน เพราะถ้าทุกคนตื่นตระหนกเร่งขายสินทรัพย์ จะยิ่งทำให้ราคาปรับตัวค่อนข้างแรง จึงอยากให้ประชาชนสบายใจ อย่าไปเร่งขายสินทรัพย์” นายวิรไทกล่าว
2.ตราสารหนี้ภาคเอกชน สมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมกันจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงินเริ่มต้น 70,000-100,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนออกใหม่ของบริษัทที่มีคุณภาพดี แต่ประสบปัญหาตลาดขาดสภาพคล่องจนส่งผลให้ไม่สามารถต่ออายุ (rollover) ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ครบทั้งจำนวน
ยกตัวอย่างเช่น หากมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน 1,000 ล้านบาท ตามกระบวนการปกติจะต้องไประดมทุนจากตลาด แต่หากระดมทุนได้ 800 ล้านบาท ส่วนที่ขาดไปอีก 200 ล้านบาทก็สามารถมาเสนอให้กองทุนนี้ลงทุนในส่วนที่เป็น Topup ได้ โดยจะเป็นตลาดสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งมีอายุไม่เกิน 270 วัน และผู้ออกตราสารหนี้ต้องเป็นผู้ออกที่มีคุณภาพดี โดยกองทุนตรงนี้จะเข้าไปเสริมสภาพคล่องในภาวะที่ตลาดบาง
“กองทุนอยู่ระหว่างจัดตั้งคาดว่าจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งจะทันกับสถานการณ์กับหุ้นกู้เอกชนที่จะทยอยครบกำหนดในช่วงไตรมาส 2 โดยขณะนี้สมาคมธนาคารพาณิชย์แจ้งว่าจะร่วมนำเงินมาจัดตั้งกองทุน 4 หมื่นล้านบาท ธนาคารออมสิน 2 หมื่นล้านบาท ธุรกิจประกันชีวิต 1 หมื่นล้านบาท และกองทุน กบข. 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรากำลังคุยกับสถาบันอื่นๆว่า จะเข้ามาร่วมจัดตั้งกองทุนเพิ่มเติมหรือไม่” นายวิรไทระบุ
3.ตราสารหนี้ภาครัฐ ธปท.พร้อมที่จะดูแลให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาครัฐทำงานได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และมีสภาพคล่องเพียงพอ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลกว่า 1 แสนล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา
นายวิรไท ย้ำว่า ระบบสถาบันการเงินของไทยมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่มาก และธปท.ต้องออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่องออกมา จึงไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง และเราไม่ได้อยู่ในสภาวะเหมือนกับเมื่อปี 2540 โดยวันนี้ระบบสถาบันการเงินของไทยมีเสถียรภาพที่ดี ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนมั่นคง และมีสภาพคล่องที่ดี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูง
“ก่อนหน้านี้ แบงก์ชาติต้องออกบอนด์เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกมา แต่ตอนนี้สภาพของตลาดบาง ตึงตัว คนอยากถือเงินสดมากเป็นพิเศษ เราก็ลดหรือยกเลิกการออกบอนด์ แล้วเราก็ทำกลับทางกัน โดยเข้าไปซื้อพันธบัตรที่อยู่ในตลาดเพื่อเอาเงินเสริมเข้าไป และทำให้ตลาดที่มันบางมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ ภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ ไม่มีอะไรให้กังวล” นายวิรไทกล่าว
ด้านนายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีประชาชนเป็นจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และติดตามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอย่างไรบ้าง ดังนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการดูแลประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ จากผลพวงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 2 เพื่อดูแลภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบ
“วันนี้เราพูดถึงภาคการเงิน ส่วนในวันอังคารนี้ ครม.จะช่วยเหลือประชาชนรายย่อย ซึ่งจะทำให้การดูแลครบทั้ง 2 ด้าน ในขณะที่ครม.เศรษฐกิจจะหารือกับหน่วยงานต่างๆอย่างใกล้ชิด เพื่อรวบรวมมาตรการที่จะมาบรรเทาและเยียวประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยจะทยอยออกมาตรการต่างๆต่อเนื่อง จึงขอให้สบายใจได้ว่ารัฐบาลเห็นปัญหาและความทุกข์ร้อนของประชาชน ซึ่งการช่วยเหลือจะกว้างขวางพอสมควร และเจาะไปยังกลุ่มที่ได้ผลกระทบ” นายกอบศักดิ์กล่าว
นายประสงค์ กล่าวเสริมว่า มาตรการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยที่จะเสนอให้ครม.พิจารณาในวันที่ 24 มี.ค.นี้ จะมีทั้งมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงานตามมาตรการของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร และร้านนวด เป็นต้น โดยมาตรการดังกล่าวจะมีทั้งการให้ การดูแลเรื่องเงิน และดูแลเรื่องสภาพคล่อง เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ได้ เพราะเมื่อรัฐให้เขาหยุดไม่ได้ทำงาน รัฐต้องดูแลเขา โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีประกันสังคม
เมื่อถามว่าจะมีการแจกเงินหรือไม่ นายประสงค์ ระบุว่า “มีหลายวิธี เดี๋ยววันอังคารจะมีรายละเอียด” เมื่อถามว่าจะเป็นการแจกเงิน 2,000 บาทใช่หรือไม่ นายประสงค์ กล่าวว่า “รอวันอังคาร อาจดีกว่าที่คิด”
ขณะที่ น.ส.รื่นฤดี กล่าวถึงมาตรการดูแลตลาดหุ้นว่า สำนักงาน ก.ล.ต.ได้หารือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ให้บริษัทมหาชนจำกัดสามารถซื้อหุ้นคืนได้คล่องตัวมากขึ้น โดยให้บริษัทฯที่ทำการซื้อหุ้นคืนไปเมื่อปีที่แล้วสามารถซื้อหุ้นคืนได้อีก จากเดิมที่กฎกระทรวงกำหนดไว้ว่า เมื่อบริษัทได้ทำการซื้อหุ้นคืนไปแล้ว ในปีถัดไปจะไม่สามารถซื้อหุ้นคืนได้อีก
“ช่วงนี้มีบริษัทมหาชนจำกัด 20 บริษัท ทำการซื้อหุ้นคืนไปแล้วคิดเป็นเงิน 70,979 ล้านบาท แต่มีหลายๆบริษัทอยากเข้ามาซื้อหุ้นคืนอีก แต่ติดกฎเกณฑ์ 1 ปี โดยเฉพาะบริษัทใหญ่หลายแห่งอยู่ในวิสัยที่ซื้อหุ้นคืนได้ เราจะปลดล็อกตรงนี้ เพื่อให้เขาซื้อหุ้นคืนได้” น.ส.รื่นฤดีกล่าว
นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการดูแลตลาดหุ้นรัฐบาลจะมีมาตรการดูแลเช่นกัน โดยการแก้ไขหลักเกณฑ์ให้บริษัทหาชนจำกัดที่ซื้อหุ้นคืนไปแล้วไม่เกิน 1 ปี สามารถซื้อหุ้นคืนได้อีก และซื้อคืนในราคาที่เหมาะสม
“ถ้าไปดูหุ้นหลายๆตัว ราคาตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และน่าสนใจมาก เพราะนักลงทุนตื่นตกใจ บางทีไม่กล้าเข้าไป แต่มีคนที่กล้าเข้าไป คือ เจ้าของ เนื่องจากเขาเข้าใจมูลค่าของบริษัทฯ เขาจะรู้ว่าเป็นราคาที่ดีมากๆและไม่ได้เห็นมาหลายปีแล้ว ดังนั้น เราจะปลดกฎเกณฑ์ข้อนี้ ในอดีตมีหลายคนอยากจะเข้า แต่ติดว่าเมื่อทำไปเมื่อปีที่แล้ว ต้องรอไปอีก 1 ปีถึงจะทำได้
ผมได้หารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. และจะไปปรับหลักเกณฑ์ข้อนี้ เพื่อให้บริษัทที่สนใจซื้อหุ้นของตัวเองคืนในราคาที่เหมาะสม สามารถดำเนินการได้สะดวกขึ้น หมายถึงว่าต่อไปนี้หุ้นสำคัญๆ จะมีคน 1 คน เข้ามาดูแล คือ ตัวเขา ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นสามารถปรับตัวได้ และไม่ผันผวนมากเกินไป” นายกอบศักดิ์ระบุ
นายปรีดี กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาครัฐและเอกชนพยายามจะหาวิธีการในการกำจัดไวรัสออกไป ซึ่งในส่วนของตลาดเงินไม่ได้มีปัญหาและมีเงินสดเพียงพอ โดยที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์มีการควบคุมอัตราส่วนการให้กู้ยืมและเงินฝากที่มีอยู่อย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมยืนยันว่าธนาคารพาณิชย์มีเงินสดเพียงพอให้ประชาชนถอน ดังนั้น อย่าไปกังวลว่าจะถอนเงินไม่ได้
“ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินให้ถอน ฝากเท่าไหร่ ถอนได้เท่านั้น แถมดอกเบี้ยให้อีก ฉะนั้นอย่าไปกังวล และแม้ว่าจะมีการปิดร้านค้า สถานบริการบางแห่ง แต่ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) มีคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์เปิดได้ เพราะทุกคนเข้าใจว่า ระบบการให้บริการการเงินมีความสำคัญมาก เรื่องเอทีเอ็มต่างๆ ธนาคารพาณิชย์มีการเตรียมความพร้อมว่า ตู้เอทีเอ็มต้องมีเงินพร้อม การจัดการแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร ไม่ให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเชื้อ” นายปรีดีกล่าว
นายวศิน กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของมาตรการที่ ธปท.ดำเนินการนั้น จะทำให้ตลาดเงินตลาดทุนทำงานได้ปกติ โดยเฉพาะจะทำให้มีการส่งผ่านสภาพคล่องเข้าไปในระบบได้ถึง 1 ล้านล้านบาท และแม้ว่าบางกลุ่มจะไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรการเหล่านี้ แต่เมื่อตลาดสามารถทำงานได้ตามปกติ ทุกภาคส่วนก็จะทำงานได้ในสิ่งที่ควรจะเป็นในภาวะปกติ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/